7 วิธีการดูแลภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุ
ภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุปัจจุบันพบอยู่ที่ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ พบมากในเพศหญิงและผู้ที่มีอายุมาก ส่วนอุบัติการณ์ภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุปกติในชุมชนพบร้อยละ 10-20 เปอร์เซ็นต์เช่นเดียวกัน แต่โดยในสถานบริบาลอาจพบสูงถึงร้อยละ 50 เลยทีเดียว การดูแลภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ลูกหลานควรเอาใจใส่ ไม่ควรปล่อยปะละเลยสุขภาวะนี้ในผู้สูงอายุ อย่างไรก็ตามภาวะท้องผูกเกิดจากหลายปัจจัยโดยไม่ใช่เป็นเพียงเพราะความเสื่อมตามอายุที่มากขึ้นเพียงอย่างเดียว
ทาง Zee doctor มีแนวทางปฏิบัติ 7 วิธีการดูแลภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุ มาแนะนำดังนี้:
ความหมายของภาวะท้องผูก
" ภาวะท้องผูกมีความหมายทางอาการอาทิเช่น ความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระ การขับถ่ายอุจจาระที่แข็ง บางครั้งไม่ถ่าย หรือความล้มเหลวในการขับถ่าย การเปลี่ยนแปลงทั้งการทำหน้าที่และโครงสร้างในวัยผู้สูงอายุ ได้แก่ ความยอมตามของทวารหนักลดลง ระดับความรู้สึกเกี่ยวกับความอยากถ่ายลดลง แรงดันขณะพักและขณะเบ่งลดลง อย่างไรก็ตามภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุ เกิดจากหลายปัจจัย เช่น การได้รับกากใยลดลง การได้รับสารน้ำลดลง กิจกรรมทางกายลดลงเนื่องจากความเจ็บป่วยเช่น โรคเบาหวาน สมองเสื่อม ซึมเศร้า พาร์กินสัน และการได้รับยาหลากหลายชนิด ทั้งหมดนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุ "
สารบัญเนื้อหา 7 วิธีการดูแลภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุ
จัดการด้านโภชนาการและน้ำดื่ม
วิธีการดูแลภาวะท้องผูก ด้วยวิธีนี้ประกอบด้วยการเพิ่มกากใยอาหารหรือลดอาหารที่กากใยน้อย ผู้สูงอายุควรได้รับอาหารที่มีกากใยเป็นปริมาณ 25-30 กรัมต่อวัน อาหารที่มีกากใยสูงช่วยเรื่องท้องผูกได้แก่ เมล็ดถั่วต่างๆ ธัญพืช เช่น ถั่วเหลือง ถัวดำ ถั่วเขียว ถั่วลิสง งา รำข้าว หรือผักที่มีเส้นใยปานกลางสามารถช่วยดูแลเรื่องการขับถ่ายและท้องผูกของผู้สูงอายุได้ อาทิเช่น หัวปลี มะเขือพวง ใบชะพลู ผักกระเฉด เห็ดหูหนู ส่วนผลไม้ เช่น ละมุด แอปเปิล ส้ม ถ้าไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีกากใยได้แนะนำให้รับการทดแทนด้วยลูกพรุน หรือผลิตภัณฑ์ของลูกพรุน และควรบริโภคน้ำเปล่าที่สะอาดไม่ต่ำกว่า 1,500 มิลลิลิตรต่อวันถ้าผู้สูงอายุไม่มีข้อจำกัด
อาหารที่ช่วยกระตุ้นการขับถ่ายได้ดีเช่น ขี้เหล็ก เนื่องจากเป็นยาระบายอ่อนๆ นอกจากนี้ยังแนะนำมะขามที่เป็นสมุนไพรมีฤทธิ์เป็นยาระบายเนื่องจากมีกรดอินทรีย์หลายตัว ผู้สูงอายุที่มีอาการท้องผูกควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน ช๊อคโกแลต อาหารหวาน เนื้อสัตว์ นม และผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงอาหารฟาสต์ฟูต เครื่องดื่มคาเฟอีน และควรดูแล รับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมกับช่วงวัย
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือภาวะเบื่ออาการของผู้สูงอายุซึ่งจะมีผลกระทบกับภาวะท้องผูก เราสามารถแก้ไขภาวะนี้ได้โดยการประเมินหาสาเหตุและจัดการปัญหา อาทิเช่น เพิ่มรสชาติ สีสัน หรือกลิ่นอาหารให้น่ารับประทาน ดูแลความสะอาดของปากและฟันเพื่อช่วยกระตุ้นความอยากอาหารของผู้สูงอายุ แนวทางนี้จะช่วยป้องกันและดูแลภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุได้เป็นอย่างดี
ส่งเสริมการเคลื่อนไหวและการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ
เราควรส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายตามระดับความสามารถของผู้สูงอายุตามภาวะสุขภาพและความชอบส่วนบุคคล ส่งเสริมให้ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ความถี่ ความหนัก และระยะเวลาควรขึ้นอยู่กับความอดทนและสุขภาพของผู้สูงอายุแต่ละรายด้วย
หลักเบื้องต้นง่ายๆในการออกกำลังกายสำหรับผู้ที่สามารถเคลื่อนไหวได้ แนะนำให้เดินครั้งละ 15-20 นาที วันละ 1-2 ครั้ง หรือ 30-60 นาทีทุกวัน หรือ 3-5 วันต่อสัปดาห์ สำหรับผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวควรเดินอย่างน้อย 50 ฟุต วันละ 2 ครั้ง หรือถ้าถูกจำกัดอยู่บนเตียง ควรขยับตัว ออกกำลังกายด้วยการยกตะโพก หมุนตัว และยกขาข้างเดียว
ส่งเสริมความเป็นส่วนตัวในการขับถ่ายเพื่อช่วยลดภาวะท้องผูก
การป้องกันภาวะท้องผูกในผู้สูงอายุไม่แค่เพียงจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม แต่ในบางรายการเกิดภาวะท้องผูกอาจเกิดจากอุปสรรคด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการดูแลจัดการปัญหาด้านนี้ให้ถูกต้องเหมาะสมโดย ห้องส้วมควรอยู่ใกล้และผู้สูงอายุสามารถเข้าถึงได้ง่าย โถส้วมควรสะอาด มีประตูปิดเปิดและที่จับที่เหมาะสม การประเมินความต้องการการขับถ่ายควรให้ผู้สูงอายุสามารถระบุทางเลือกได้ ควรพาผู้สูงอายุไปถ่ายในห้องน้ำถ้าเป็นไปได้ การช่วยยกผู้สูงอายุควรคำนึงถึงความพอดี ตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุทันทีและเป็นไปอย่างสุภาพ ในกรณีที่ผู้สูงอายุต้องถ่ายบนเตียง หลังถ่ายเสร็จต้องนำกระโถนหรือที่นั่งถ่ายออกทันที เราต้องช่วยทำความสะอาดมือ(ล้างมือ) ให้ผู้สูงอายุ ดูแลเรื่องความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ
การจัดการด้านพฤติกรรมเพื่อลดภาวะท้องผูก
วิธีนี้เราจะเน้นการฝึกขับถ่ายอุจจาระเพื่อเป็นการฝึกลำไส้ โดยภายหลังจากการรับประทานอาหารครึ่งชั่วโมง แนะนำให้ผู้สูงอายุเข้าส้วมเพื่อขับถ่ายแม้ว่าจะไม่รู้สึกอยากขับถ่ายก็ตาม ส่วนใหญ่นิยมใช้หลังอาหารเช้าหรือเย็น เนื่องจากอาหารจะช่วยกระตุ้นความเคลื่อนไหวของลำไส้ ถ้าปฏิบัติจนเคยชิน ร่างกายปรับตัวได้จะช่วยลดปัญหาท้องผูกได้ดีในระดับหนึ่ง ควรฝึกเป็นประจำเพื่อให้ผู้สูงอายุตระหนักถึงความจำเป็นและให้ทำเป็นกิจวัตรประจำวันได้ยิ่งดี วิธีนี้ยังช่วยกระตุ้นทวารหนักเพื่อช่วยเร่งการขับถ่ายอุจจาระด้วย
แนะนำให้นั่งยองๆ
ในกรณีที่ผู้สูงอายุสามารถทำได้ แต่ถ้าผู้สูงอายุไม่สามารถนั่งได้ให้ถ่ายในท่านอนตะแคงซ้ายชันเข่า โดยเคลื่อนเท้าเข้าหาหน้าท้อง
การนวดหน้าท้องให้ผู้สูงอายุ
เพื่อลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อหน้าท้องและกระตุ้นความเคลื่อนไหวของลำไส้ ทั้งยังส่งเสริมการไหลเวียนของเลือดแต่ต้องนวดช้าๆ ถึงจะมีประสิทธิภาพ
การใช้ยาระบายเพื่อลดอาการท้องผูก
ควรต้องใช้ยาลดอาการท้องผูกอย่างระมัดระวังและอยู่ในการดูแลของแพทย์ พยาบาล มีข้อเสนอแนะการใช้ยาโดยเรียงลำดับการใช้ระบายเริ่มจากสารเพิ่มมวลอุจจาระ(Bulking agents) และยาระบายที่มีฤทธิ์ดูดน้ำเข้ามาในลำไส้มากขึ้นด้วยแรงออสโมซิส(Osmotic agents) หลังจากนั้นใช้ยาระบายที่ทำให้อุจจาระอ่อนตัว(Stool Softener) และสุดท้ายยาระบายประเภทออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำใส้(Stimulants)
สรุป ภาวะท้องผูกเป็นปัญหาสุขภาพที่พบบ่อยในผู้สูงอายุที่สามารถป้องกันได้เพื่อลดความรุนแรงและเรื้องรังซึ่งจะส่งผลกระทบตามมาหลายประการ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการป้องกันภาวะท้องผูกที่ได้ผลดี มีประสิทธิภาพ สุดท้ายสำคัญที่สุดคือลูกหลานและผู้ใกล้ชิดควรดูแล เอาใจใสพ่อ แม่ของท่านด้วยความละเอียดถี่ถ้วน ปฏิบัติตามคำแนะนำทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด มีระเบียบวินัยและความสม่ำเสมอในการปฏิบัติเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่เรารักให้มีสุขภาพดี มีความสุข
แหล่งที่มาข้อมูล: การพยาบาลผู้สูงอายุ โดย ดร.ศิริรัตน์ ปานอุทัย