หลังจากบทความที่แล้วได้ให้ข้อมูลถึงสาเหตุของการหกล้มในผู้สูงอายุไปแล้ว วันนี้ทาง Zee Doctor จะมาอธิบายเพิ่มเติมถึงวิธีการประเมินและป้องกันอันตรายของการหกล้มในผู้สูงอายุต่อ
สารบัญเนื้อหา
1. การประเมินภาวะหกล้มในผู้สูงอายุ
การประเมินปัจจัยเสี่ยง โดยถ้าสามารถประเมินปัจจัยเสี่ยงได้ ก็จะสามารถป้องกันภาวะหกล้มโดยการจัดการกับภาวะเสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงต่อการหกล้มในผู้สูงอายุมีหลายปัจจัย ปัจจัยด้านประวัติการหกล้มพบว่าผู้สูงอายุที่เคยหกล้มมักจะเกิดการหกล้มได้อีกในภาวะเดิม ปัญหาที่เกิดตามมาเมื่อมีการหกล้มคือความกลัวต่อการหกล้มโดยพบว่าเป็นปัญหาที่รุนแรงและส่งผลต่อปัญหาด้านจิตใจตามมา ซึ่งปัญหานี้ทำให้ผู้ให้การดูแลหรือบุคลากรด้านสุขภาพเตือนผู้ป่วยไม่ให้ลุกจากเตียงเนื่องจากจะหกล้มอีกทำให้ผู้สูงอายุจำกัดกิจกรรม ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการหกล้มมากยิ่งขึ้น
การหกล้มมักเกิดขณะที่จะไปห้องน้ำเพื่อขับถ่ายหรือขณะจะเคลื่อนย้ายไปยังเก้าอี้ถ่าย ซึ่งเป็นการดีถ้าญาติ พี่น้อง หรือผู้ดูแลคอยสังเกตและคอยให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุ การหกล้มจะพบมากในผู้สูงอายุที่มีความสับสนจากสมองเสื่อมหรือสับสนเฉียบพลันเนื่องจากไม่ตระหนักเกี่ยวกับความปลอดภัยและการตัดสินใจบกพร่อง
ภาวะมึนงงก็เป็นปัญหาทีอาจทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุ อาจเกิดขึ้นได้จากโรคเบาหวาน พาร์คินสัน โรคหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดแคโรติดที่คอตีบ ภาวะความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า การได้รับยา หรือปัญหาเกี่ยวกับหูด้านใน ดังนั้นการประเมินและคอยสังเกตอาการของผู้สูงอายุในภาวะมึนงงและการให้การแก้ไขดูแล จะช่วยป้องกันการเกิดการหกล้มได้
การใช้ยาจัดเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการหกล้มในผู้สูงอายุ เช่น ยาเบนโซไดอะซีพีน หรือยานอนหลับอื่นๆ รวมถึงการใช้ยามากกว่า 4 ชนิด ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต และยาโรคหัวใจอาจส่งผลให้ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง ทำให้ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทาง การใช้ยาต้านภาวะซึมเศร้า ยาลดความวิตกกังวลรวมทั้งยาระงับประสาทซึ่งส่งผลระงับการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางทำให้การรับรู้และการนำกระแสประสาทลดลง ทั้งหมดนี้ทำให้การทำหน้าทีด้านร่างกายลดลงส่งผลให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุได้ง่าย

ภาพโดย Mabel Amber จาก Pixabay
ผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุนมีโอกาสกระดูกหักจากการหกล้มโดยเฉพาะบริเวณสะโพก ข้อมือ และกระดูกสันหลัง นอกจากนั้นผู้สูงอายุมักมีปัญหากล้ามเนื้อและไขมันลดลงทำให้มีโอกาสเกิดการได้รับบาดเจ็บเมื่อมีการหกล้มเนื่องจากขาดเนื้อเยื่อที่ช่วยลดแรงกระแทก ดังนั้นควรแนะนำให้ผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการหกล้มใส่ที่ป้องกันสะโพก
2. การป้องกันอันตรายของการหกล้มในผู้สูงอายุ

ภาพโดย pressfoto/freepik.com
จริงแล้วการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุควรจำแนกความเสี่ยงต่อการหกล้มซึ่งประกอบด้วย ผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน ผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานบริบาลหรือสถานสงเคราะห์ แต่ละกลุ่มก็จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป แต่ในที่นี้เราจะขอพูดแค่ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ที่บ้านเท่านั้น
การป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุที่บ้านมีดังนี้:
2.1 การฝึกเดิน ซึ่งจะมีรูปแบบการเดินได้แก่ความเร็วและทิศทางที่เหมาะสมเวลาก้าวเดิน ตัวอย่างเช่น การเดินยกส้นเท้าและการเดินด้วยปลายเท้า การเดินต่อเท้า การเดินถอยหลัง การเดินไปด้านหน้า การเดินไปด้านข้าง การหมุนตัว การก้มตัว การกระโดดและการกระโดดด้านข้าง
2.2 การออกกำลังกายเพื่อการฝึกระบบการทรงตัว เช่น การยืนขาเดียว การเดินบนกระดานแผ่นเดียว การฝึกการประสานระหว่างสายตาและเท้า การศึกษารูปแบบการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความสามารถในการทรงตัวได้แก่ การก้าวตามตารางซึ่งเป็นรูปแบบที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น โดยรูปแบบการก้าวเป็นทั้งแบบการก้าวไปข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้ายและข้างขวา เฉียงบนและล่าง เริ่มจากรูปแบบที่ง่ายไปถึงรูปแบบที่ยาก ระยะเวลาของการก้าวตามตารางที่กำหนดโดยนำมาปรับให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เลือกเฉพาะแบบที่ง่ายและยากปานกลาง ระยะเวลาของการออกกำลังกายคือ 3 วันต่อสัปดาห์ ออกกำลังกายต่อครั้งคือ 40 นาที โดยต้องมีการอบอุ่นร่างกายและผ่อนคลายร่างกายอย่างสม่ำเสมอ
2.3 การฝึกทำกิจกรรม ประกอบด้วยการฝึกการทำกิจกรรมที่ต้องอาศัยการทรงตัวและการเดิน เช่น การเดินตามเส้นที่กำหนด การเดินหลีกสิ่งกีดขวาง และ การเล่นเกมส์ที่ต้องอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์
2.4 การออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรง หรือการออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน โดยการฝึกดังนี้ นอนคว่ำแล้วยกลำตัวด้านบนขึ้น หรือ ใช้แรงจากภายนอกเช่น การยกลูกเหล็ก/ดัมเบล การกระโดด หรือการใช้อุปกรณ์ช่วยในรูปแบบต่างๆ
2.5 การออกกำลังกายแบบฝึกความยืดหยุ่นของกระดูกและข้อเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวได้ตามปรกติ เช่น การบริหารร่างกายด้วยท่าต่างๆ เพื่อยืดเหยียดกล้ามเนื้อมัดต่างๆ หรือการเล่นโยคะ
2.6 การออกกำลังกายเพื่อฝึกความทน เพื่อให้หัวใจมีความทนต่อการทำกิจกรรมมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก การวิ่งเหยาะๆ การเดินเร็ว การเดินบนสายพาน การปั่นจักรยาน ที่ช่วยทำให้การเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
3. คำแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการหกล้มแก่ผู้สูงอายุเพิ่มเติม

ภาพโดย by jcomp/freepik
การไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยไม่มีผู้ช่วยเหลือหรือขณะร่างกายอ่อนแอ ลุกขึ้นอย่างช้าๆจากท่านอนหรือท่านั่ง และนับ 1-10 ก่อนยืนหรือเคลื่อนไหว ทำความคุ้นเคยกับสิ่งที่อยู่รอบๆตัว หลีกเลี่ยงการไปในที่ๆเป็นอันตราย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสอม ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายประจำปีและรับประทานยาตามแผนการรักษาของแพทย์ รับประทานอาหารให้ครบส่วนและเพียงพอ
ผู้สูงอายุควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อร่างกาย เวลานอนควรเคลื่อนไหวและเปลี่ยนท่าอย่างช้าๆ ที่สำคัญควรสำรวจสิ่งของที่เป็นอันตรายภายในบ้านเป็นประจำ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายภายในบ้านและรอบๆบ้าน จัดวางและใช้เครื่องเรือนที่เหมาะสม ใช้เครื่องใช้ในการเคลื่อนไหวที่เหมาะสม สวมเครื่องแต่งกายที่พอดีตัว ใส่สบาย ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป จัดแสงสว่างให้เหมาะสมเพียงพอ จัดเก็บสิ่งของที่กีดขวางทางเดินและหมั่นทำความสะอาดเมื่อพื้นมีการเปียกลื่น
สุขลักษณะภายในห้องน้ำเพื่อป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุได้แก่ จัดห้องน้ำโดยแยกบริเวณแห้ง และบริเวณเปียก ติดผ้ายางกันลื่นไว้ในส่วนของที่อาบน้ำ ติดตั้งราวจับที่ผนังและทางเดิน มีแสงสว่างเพียงพอ
สุขลักษณะภายในตัวบ้านเพื่อป้องกันการหกล้มได้แก่ เพิ่มแสงสว่างภายในตัวบ้านเพื่อให้มองเห็นได้ชัดมากขึ้น ปรับเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะสมกับสรีระของผู้สูงอายุ เช่น ความสูงของเก้าอี้หรือโต๊ะ เตียง ในสถานที่ๆมีความเสี่ยงสูงต่อการหกล้มให้ติดตั้งที่ยึดเหนี่ยวหรือราวจับ เช่น บันได ห้องน้ำ ควรมีอุปกรณ์ช่วยในการทรงตัวและการเดิน อาทิ ไม้เท้า คอกเดิน แว่นตา และมีสัญญาณเรียกในกรณีฉุกเฉินโดยเฉพาะในห้องน้ำหรือห้องนอน

ภาพโดย by rawpixel.com/freepik
การให้คำแนะนำเกี่ยวกับการเลือกรองเท้าที่เหมาะสมคือ ควรเป็นรองเท้าส้นเตี้ยและขอบมน พื้นเป็นดอกยางเพื่อเกาะติดพื้นได้ดี ควรเป็นรองเท้าหุ้มส้น ส่วนที่หุ้มมีความแข็งแรงเพียงพอเพื่อพยุงข้อเท้าของผู้สูงอายุ รองเท้าควรเป็นแบบหน้ากว้างเพื่อให้นิ้วเท้าเคลื่อนไหวได้สะดวก พื้นรองเท้าด้านหน้าควรเชิดขึ้นเล็กน้อยเพื่อป้องกันการสะดุดเท้าตนเอง รองเท้าควรเป็นแบบปรับขนาดได้เช่น รองเท้าผ้าใบ ถ้ามีความผิดปรกติของเท้าควรเลือกรองเท้าที่ออกแบบพิเศษ
การให้ความรู้และให้ความสำคัญเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติเมื่อเกิดการหกล้มคือ ถ้าหกล้มอย่าตกใจ ตั้งสติ ให้อยู่นิ่งๆและรอจนกว่าจะมีผู้มาช่วยเหลือ ถ้าสามารถเคลื่อนไหวไปในตำแหน่งที่เป็นออดกดเรียกขอความช่วยเหลือได้ควรทำ ถ้าไม่สามารทำได้ควรร้องเรียกผู้ดูแลให้มาช่วย
4. ให้คำแนะนำเกี่ยวกับอุปกรณ์ช่วยป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ
4.1 ออดกดเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ง่ายและราคาถูก
4.2 เครื่องจับการเคลื่อนไหว ใช้ตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ โดยติดตั้งในห้องนอน ห้องรับแขก เพื่อช่วยเตือนผู้ดูแล
4.3 กริ่ง ใช้เสียงในการเตือนเมื่อผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม
4.4 ออดความดัน ใช้ติดตั้งโดยวางไว้บนที่นอน ที่รองนั่งบนเก้าอี้ โดยจะมีเสียงเตือนเมื่อมีการเปลี่ยนท่า
4.5 อุปกรณ์วัดระยะทาง ใช้ตรวจจับเมื่อผู้สูงอายุออกห่างจากเตียงหรือเก้าอี้ในระยะเวลาหนึ่ง
บทสรุป
ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการหกล้มด้วยหลายปัจจัยซึ่งถ้าเกิดการหกล้มในผู้สูงอายุจะนำมาสู่ผลกระทบหลายประการ ดังนั้นการป้องกันการหกล้มจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ลูกหลาน ญาติพี่น้อง และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องระมัดระวัง เตรียมพร้อมอยู่เสมอ ร่วมมือกันทั้งผู้สูงอายุเองและครอบครัว
ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูลเรื่องการหกล้มในผู้สูงอายุ ตอนที่ 2:
การพยาบาลผู้สูงอายุโดย ผศ.ดร.ศิริรัตน์ ปานอุทัย