ข้อควรระวังของการหกล้มในผู้สูงอายุ ตอนที่ 1

 วันนี้เรามีภัยเงียบอีกตัวที่ต้องคอยระวังสำหรับครอบครัวที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วย การหกล้มในผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ต้องคอยใส่ใจให้ความสำคัญ ไม่สามารถละเลยได้เพราะวัยสูงอายุเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลง อันจะนำมาสู่การเกิดภาวะเสี่ยงต่างๆมากมายรวมถึงภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพ ภาวะเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บโดยเฉพาะการหกล้มซึ่งเป็นความเสี่ยงที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

 การหกล้มในผู้สูงอายุสามารถเกิดขึ้นได้ทั้ง 2 กรณีคือ ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และผู้สูงอายุที่อยู่ที่บ้าน โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการทั้งปัจจัยด้านบุคคล ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยด้านสุขภาพ เราในฐานะลูก-หลาน จึงมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและจัดการกับความเสี่ยงของการหกล้มในผู้สูงอายุ

 การหกล้มในผู้สูงอายุพบว่ามีเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น องค์กรอนามัยโลกระบุว่าเฉลี่ยแล้วใน 1 วัน มีผู้เสียชีวิตจากการหกล้มประมาณ 1,160 คน สำหรับประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากการหกล้มเฉลี่ยวันละ 3 คน โดยเป็นผู้สูงอายุชายสูงกว่าผู้สูงอายุหญิงกว่า 3 เท่า ฉะนั้นการหกล้มนำมาซึ่งการบาดเจ็บตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงจนเสียชีวิต

Elderly woman fell on the floor

credit pics by rawpixel.com/freepik

 ” จากรายงานการพยากรณ์การพัดตกหกล้มของผู้สูงอายุในประเทศไทยปี พ.ศ. 2560-2564 ของสำนักงานโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากการหกล้มในผู้สูงอายุมีมากกว่าทุกกลุ่มอายุเป็นจำนวนถึง 3 เท่า และคาดการณ์ว่าระหว่างปี 2560-2564 มีผู้สูงอายุหกล้มปีละประมาณ 3,030,900-5,506,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้จะมีผู้เสียชีวิตจำนวน 5,700-10,400 คนต่อปี “

สาเหตุของการหกล้มในผู้สูงอายุ มาจาก 2 ปัจจัยได้แก่:

1.ปัจจัยภายในบุคคล:

1.1 อายุ จากผลการศึกษาพบว่าบุคคลที่มีอายุมากกว่า 65 ปี มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดการหกล้มได้มาก อย่าไรก็ตามผลการศึกษายังไม่สามารถสรุปได้ เนื่องจากมีบางการศึกษาที่ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างอายุกับการเกิดการหกล้ม

1.2 ภาวะบกพร่องด้านการรับรู้และสติปัญญา เป็นปัจจัยที่สำคัญของการเกิดภาวะหกล้มในผู้สูงอายุที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรืออยู่บ้าน ภาวะบกพร่องประกอบด้วย ภาวะสับสน ภาวะความจำ และภาวะความเข้าใจลดลง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการหกล้มในผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

1.3 ประวัติการหกล้ม เป็นปัจจัยที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของภาวะเสี่ยงต่อการหกล้ม จากผลการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุที่มีประวัติการเกิดการหกล้มาก่อน มีโอกาสหกล้มเพิ่มมากกว่า 1 ครั้ง ถึงร้อยละ 16-52 ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มมีสัดส่วนสูงมาก

1.4 การใช้ยาที่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง เช่นยานอนหลับหรือยาระงับประสาทจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการหกล้ม

1.5 ปัจจัยด้านความสามารถในการทรงตัวและการเดิน เช่น ภาวะอ่อนแรง การเคลื่อนไหวลดลง และการประสานงานลดลง ซึ่งส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุที่มีระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อเช่น โรคข้อเสื่อม กระดูกพรุน และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทที่ส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้และการทรงตัว ได้แก่โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน

1.6 ปัญหาการขับถ่ายปัสสาวะ เช่นภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปัญหาถ่ายเหลว เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของภาวะหกล้ม ในขณะที่ได้รับยาขับปัสสาวะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ปัญหาดังกล่าวรุนแรงมากขึ้น

Elderly woman need help after accident from a wheelchair.

credit pics by jcomp/freepik

1.7 ปัจจัยอื่นๆ ได้แก่ การได้รับสารละลายทางหลอดเลือดดำ ภาวะมึนงง การใช้สารเสพติด ภายหลังการผ่าตัด การเข้ารับการรักษาในห้องผู้ป่วยหนัก ภาวะนอนไม่หลับ และระยะเวลาที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นต้น

1.8 ปัญหาสุขภาพทางอายุรกรรม เช่น ความดันโลหิตต่ำซึ่งจะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอมีโอกาสเกิดการเป็นลม หน้ามืด และหกล้มได้ รวมทั้งการทรงตัวไม่ดี บ้านหมุน(vertigo) หรือโรคเบาหวานที่มีประวัติหรือความเสี่ยงต่อการมีน้ำตาลในเลือดต่ำ นอกจากนั้นผู้ที่มีความผิดปรกติของหัวใจ เช่น การเต้นผิดจังหวะที่ทำให้ปริมาณเลือดออกจากหัวใจลดลงเลือดจึงถูกส่งไปเลี้ยงสมองลดลง

1.9 ปัจจัยอื่นๆ เช่นเครื่องแต่งกาย และ เครื่องช่วยในการเคลื่อนไหวไม่เหมาะสม เสื้อผ้าที่ใหญ่และยาวเกินไป ทำให้มีโอกาสสะดุดหรือเกี่ยวดึงได้ง่าย รองเท้าไม่พอดี หรือ การเป็นหูดหรือตาปลาทำให้เจ็บป่วยขณะเคลื่อนไหว พื้นรองเท้าไม่เหมาะสม แว่นตาไม่เหมาะสม ไม้เท้าและเครื่องพยุงรวมทั้งล้อเข็นที่ขนาดไม่เหมาะสมกับผู้ใช้และการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง

2. ปัจจัยภายนอกบุคคล:

ปัจจัยภายนอกบุคคลส่วนใหญ่เป็นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่มีความแตกต่างกันดังนี้:

 ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน อันได้แก่แสงสว่างและสีที่ไม่เหมาะสม สถานที่ๆพบว่าแสงสว่างมักไม่เพียงพอ บันได ทางเข้าบ้าน ทางเดินภายในและภายนอกบ้าน บริเวณที่มีแสงจ้ามาดเกินไป เช่น บริเวณที่มีกระจก พื้นที่ขัดมันเป็นเงาสะท้อนหรือบริเวณที่แสงอาทิตย์ส่องตรง สำหรับสีที่ไม่เหมาะสมและมีโอกาสทำให้ผู้สูงอายุหกล้มได้  อันได้แก่ สีที่มีความกลมกลืนกับขั้นบันได ตู้ หรือเตียง สีที่ประกอบกันเป็นลวดลายแบบแผนที่สับสน เช่นสีของพรหมหรือสีกระเบื้องปูพื้นและสีสิ่งของตกแต่งผนังเป็นต้น

นอกจากนี้การหกล้มในผู้สูงอายุอาจเกิดจากพื้นบ้านที่เป็นอันตราย พื้นผิวที่ไมเรียบ มีลวดลายหลอกตา มีสิ่งปกคลุมที่ทำให้ลื่นหรือสะดุด เช่นบริเวณทางเดิน พื้นบ้านที่ไม่เรียบ พื้นลื่นเกินไป มีสิ่งของเกะกะบนพื้น พื้นห้องน้ำที่เปียกอยู่เสมอ พรหมปูพื้นที่ไม่มีที่ยึดเกาะ

nurse-with-senior

credit pics by pressfoto/freepik.com

สิ่งก่อสร้างภายในบ้านที่ไม่เหมาะสม เช่น บันไดไม่มีราวยึด ขั้นบันไดที่มีความสูงไม่เหมาะสมหรือความสูงไม่สม่ำเสมอ ขั้นบันไดแคบ ห้องน้ำไม่มีราวเกาะยึด ที่นั่งถ่ายแบบนั่งยองๆ รวมทั้งอ่างล้างหน้าที่ต่ำเกินไป

สุดท้ายคือเครื่องเรือนที่ไม่เหมาะสม เช่น การจัดวางเครื่องเรือนไม่เป็นระเบียบ ขวางทางเดิน ขาดการดูแลรักษา ระดับความสูงต่ำไม่เหมาะสมของเครื่องเรือน ความไม่มั่นคงของเครื่องเรือนขณะใช้งาน ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นสามารถเป็นต้นเหตุสำคัญของการหกล้มในผู้สูงอายุได้

ในบทความหน้า Zee Doctor จะมาพูดต่อถึงการประเมินปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุให้ผู้อ่านได้รับทราบถึงความสำคัญกัน

 

ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูลเรื่องการหกล้มในผู้สูงอายุ ตอนที่ 1:

การพยาบาลผู้สูงอายุโดย ผศ.ดร.ศิริรัตน์ ปานอุทัย

อันดับแรก ต้องเข้าใจกันก่อนว่ารถเข็นที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่:

ประเภทแรก รถเข็น Wheel Chair แบบต้องใช้กำลังคนขับเคลื่อน ซึ่งก็สามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีก 2 ประเภท:

  1. Transport wheel chair– รถเข็น Wheel Chair ประเภทนี้จำเป็นต้องอาศัยคนช่วยเข็นเท่านั้น คนนั่งไม่สามารถเข็นเองได้ นิยมใช้งานกันในโรงพยาบาลเพื่อเคลื่อนย้ายคนไข้จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง รถเข็นลักษณะนี้ จะมีล้อหลังขนาดเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ประมาณ 8-14นิ้ว ผู้นั่งจะไม่สามารถเอื้อมมือไปขยับล้อเพื่อเคลื่อนไหวรถเข็นด้วยตัวเองได้ ข้อดีคือน้ำหนักเบา ราคาค่อนข้างถูก
  2. Manually propelled wheel chair– รถเข็น Wheel Chair ประเภทนี้ผู้ใช้งานสามารถที่จะขยับรถเข็นเคลื่อนที่เองได้โดยจะต้องใช้แขนทั้งสองข้างในการช่วยหมุนล้อ ส่วนในกรณีที่ต้องการเบรก ผู้ใช้งานต้องใช้แขนทั้งสองข้างจับที่วงปั่นเพื่อช่วยในการชะลอผ่อนความเร็ว รถเข็นประเภทนี้ จะมีล้อหลังขนาดใหญ่ตั้งแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-24นิ้ว (51-61 ซ.ม.) ข้อดีคือผู้ใช้งานสามารถบังคับควบคุมรถได้ด้วยตนเอง

ประเภทที่สอง รถเข็น Wheel Chair ที่ใช้พลังงานภายนอก หรือ นิยมเรียกกันว่า รถเข็นไฟฟ้า

คือรถเข็นที่ใช้ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน โดยลักษณะภายนอกของรถเข็นและการใช้งานจะเหมือนกับแบบที่ใช้กำลังคนในการขับเคลื่อน แต่จะถูกติดตั้งเพิ่มเติมด้วยระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าทำให้ผู้ใช้งานสามารถบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ไปในทางที่ต้องการได้ รถเข็นแบบนี้นิยมใช้กับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยหนักไม่สามารถควบคุมการทำงานภายในร่างกายได้ หรือพิการ เป็นอัมพาตจนร่างกายขยับไม่ได้

รถเข็นไฟฟ้าช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุได้เป็นอย่างมากโดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ไม่สามารถขยับเขยื้อนช่วงล่างของร่างกายได้เลย ผู้ใช้งานสามารถบังคับรถเพื่อหลบหลีกทาง หรือ เขยิบไปในจุดที่สะดวกได้ด้วยตนเองหรือในขณะที่คนเข็นรถไม่อยู่

ข้อแนะนำในการเลือกรถเข็นผู้ป่วย ผู้สูงอายุ:

  1. ควรเลือกแบบที่สามารถพับเก็บได้เพื่อความสะดวกในการพกพาไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อความง่ายในการเคลื่อนย้าย
  2. รถเข็นควรมีเบรกและระบบล๊อคล้อเพื่อความปลอดภัย
  3. กรณีเป็นผู้ป่วยหนักจำเป็นต้องใช้รถเข็นในระยะเวลานาน ควรเลือกซื้อแบบที่ทนทาน มีน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวก หากต้องเดินทางเป็นประจำควรซื้อแบบที่ทำด้วยอลูมิเนียม
  4. รถเข็นที่ดีต้องมีความเหมาะสมกับผู้ใช้งาน ต้องไม่เทอะทะ ความลึกของเบาะนั่งต้องพอดีกับร่างกาย เมื่อนั่งแล้ว สะโพกและข้อเข่าควรงอทำมุมฉาก ควรมีช่องว่างระหว่างขอบที่นั่งกับข้อพับเข่าของผู้ป่วยเล็กน้อย หากที่นั่งลึกเกินไปอาจเกิดการเสียดสีเป็นแผลที่ใต้เข่าหรือผู้ป่วยอาจเลื่อนไหลตัวไปด้านหน้าจนอาจตกจากรถเข็นได้
  5. ต้องมีความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน โดยควรคำนึงถึงความสูงของพนักพิงว่าต้องพอดี หากผู้ป่วยมีอาการที่ทรงตัวไม่ดี ควรใช้พนักพิงที่พอเหมาะพอดีกับตัว หากผู้ใช้งานทรงตัวดี ต้องการความคล่องตัวในการเข็นรถด้วยตนเองให้เลือกใช้พนักพิงแบบต่ำ
  6. ที่วางเท้าต้องพอเหมาะในขณะที่ผู้สูงอายุนั่ง ข้อเข่าและข้อเท้าควรงอตั้งฉากกัน ไม่ควรงอหรือเหยียดจนเกินไป หรือหากที่วางเท้าสูงเกินไปอาจส่งผลให้เกิดแรงกดไปที่ก้นมากจนอาจเกิดอันตราย เมื่อใช้ไปนานเข้าอาจทำให้ปวดหลังหรือเกิดแผลกดทับที่ก้นขึ้นมาได้

เครดิตข้อมูลจาก site :       

Phartrillion: https://phartrillion.com/how-to-choose-wheelchair/

ราคาเครื่องมือแพทย์.com:  https://bit.ly/38GGrWs