โรคกระดูกพรุนเกิดจากกระบวนการสูญเสียมวลกระดูกอย่างช้าๆต่อเนื่อง มวลกระดูกและคุณภาวะกระดูกลดลง โดยมวลกระดูกที่ถูกสะสมไว้มีจำนวนน้อยกว่าปรกติ หรือมีการสลายของกระดูกมากกว่าปรกติ ในเพศหญิงมวลกระดูกมีมากที่สุดในช่วงอายุประมาณ 35 ปี และคงอยู่จนถึงวัยหมดประจำเดือน อัตราการลดลงของมวลกระดูกในช่วงแรกของวัยหมดประจำเดือนจะสูงประมาณร้อยละ 7 หลังจากนั้นมวลกระดูกจะลดลงเรื่อยๆ ร้อยละ 1-2 ต่อปี แต่ในเพศชายหลังจากมวลกระดูกมีสูงสุดช่วงอายุประมาณ 35 ปี แล้วจะค่อยๆลดลงประมาณร้อยละ 1-2 ต่อปี ฉะนั้นเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคกระดูกพรุนได้สูงกว่าเพศชาย
สารบัญเนื้อหา
1. ความหมายของโรคกระดูกพรุน
นิยามของโรคกระดูกพรุนได้รับการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเน้นเรื่องสำคัญ 3 เรื่องได้แก่ ความแข็งแกร่งของกระดูก ความหนาแน่นของกระดูก ซึ่งเป็นผลรวมทำให้กระดูกมีความแข็งแกร่ง และ คุณภาพกระดูก โดยในเรื่องของคุณภาพกระดูกนั้นหมายรวมถึงความแตกต่างในโครงสร้างของกระดูกของแต่ละบุคคล วงจรการสลายและสร้างกระดูก และองค์ประกอบของเนื้อกระดูก
2. ปัจจัยเสี่ยงโรคกระดูกพรุน
ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุนอาจจะยากในการแยกจากปัจจัยเสี่ยงต่อการลดลงของการทำหน้าที่ของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อ ได้แก่ การขาดการออกกำลังกาย รวมทั้งแนวทางการรับประทานอาหาร ซึ่งผลจากการศึกษาพบว่าการออกกำลังกายและรับประทานอาหารโปรตีน แคลเซียมและวิตามินดี ทำให้กำลังกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งแรง แต่อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุนำมาสู่การเกิดภาวะกระดูกพรุนชนิดที่สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนมีดังนี้:
- เพศหญิง มีโอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนมากกว่าเพศชายถึง 4 เท่า เนื่องจากมวลกระดูกในเพศหญิงมีน้องกว่าเพศชายประมาณ ร้อยละ 30 และผู้สูงอายุเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งฮอร์โมนนี้มีผลต่อกระบวนการสร้างกระดูกและป้องกันการสลายของกระดูก
- อายุที่มากขึ้น เนื่องจากกระบวนการสลายกระดูกในผู้สูงอายุเร็วกว่ากระบวนการสร้างกระดูก ผู้สูงอายุจึงเสี่ยวต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนสูงกว่าวัยอื่น
- กระดูกเล็ก และน้ำหนักตัวน้อยหรือรูปร่างบาง เนื่องจากผู้ที่รูปร่างผอมบาง กระดูกเล็ก หรือตัวเตี้ยจะมีกระดูกส่วนเนื้อแน่นน้อย
- กรรมพันธุ์ โดยพันธุ์กรรมที่เกี่ยวข้องได้แก่ หน่วยพันธุ์กรรมของตัวรับวิตามินดีซึ่งมีส่วนในการดูดซึมแคลเซียม และส่งผลต่อความหนาแน่นของมวลกระดูก
- ได้รับแคลเซียมน้อย เนื่องจากแคลเซียมเป็นเป็นแร่ธาตุสำคัญในกระบวนการสร้างกระดูก ได้รับวิตามินดีน้อย ทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง
- ไม่เคลื่อนไหวร่างกายเป็นเวลานาน ทำให้มีการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกมากขึ้น
- ฮอร์โมนเทสโตสเตอโรนลดลงในเพศชาย การขาดฮอร์โมนในเพศชายเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนได้เช่นเดียวกัน รวมทั้งการออกกำลังกาย และ บริหารร่างกายอย่างหนัก การตัดลูกอัณฑะทั้งสองข้าง ภาวะฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองต่ำ
- สูบบุหรี่ สารพิษในบุหรี่มีฤทธิ์เพิ่มเมตาบอลิสซึมของฮอร์โมนเอสโตรเจนในตับ ทำให้ฮอร์โมนลดลง ส่งผลให้กระบวนการสร้างกระดูกลดลง
- ดื่มแอลกอฮอล์มาก แอลกอฮอล์มีพิษโดยตรงต่อเนื้อเยื่อกระดูก ลดประสิทธิภาพการดูดซึมแคลเซียมในร่างกาย และยับยั้งการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก จึงทำให้กระดูกเสื่อม
- ใช้ยาบางประเภทเป็นประจำ ได้แก่ คอร์ติโคสเตียรอยด์ซึ่งมีผลการกดการสร้างกระดูกใหม่ ลดการดูดซึมแคลเซียมในทางเดินอาหาร และเพิ่มการขับถ่ายแคลเซียมทางปัสสาวะ นอกจากนั้นการได้รับยาต้านชัก และฮอร์โมนไทรอยด์ยังส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกพรุนได้เนื่องจากยามีผลทำให้พร่องวิตามินดี
- ใช้ยาลดกรดในปริมาณที่มาก โดยเฉพาะยาที่มีส่วนผสมของอลูมินัมจะยับยั้งขบวนการดูดซึมฟอสเฟตในร่างกาย
3. การเปลี่ยนแปลงในวัยสูงอายุที่มีผลต่อโรคกระดูกพรุนและข้อเสื่อม
การเปลี่ยนแปลงของระบบโครงร่างและกล้ามเนื้อทั่วไป ได้แก่
3.1) ความสูงลดลง กล้ามเนื้อฝ่อ การเคลื่อนไหวลดลง ความแข็งแรงลดลง ข้อแข็งและไขมันรวมทั้งกล้ามเนื้อลายเปลี่ยนที่
3.2) การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อ กระดูกและข้อทำให้รูปร่างที่ปรากฏเปลี่ยนแปลงไป อ่อนแอ เคลื่อนไหวได้ช้า
3.3) อัตราการสร้างกระดูกใหม่ช้าลง ทำให้มวลกระดูกในผู้สูงอายุลดลง
3.4) ผู้สูงอายุจะมีความแข็งแรงและใยของกล้ามเนื้อลดลง อัตราการสร้างกล้ามเนื้อลายขึ้นใหม่ช้าลง เนื้อเยื่อฝ่อและมีการแทนที่กล้ามเนื้อด้วยเส้นใยเหนียว
3.5) การเปลี่ยนแปลงของข้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน การเปลี่ยนแปลงของข้อมีความแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อเนื่องจากการใช้งานมากและการออกกำลังกายส่งผลต่อความเสื่อมของข้อ (อ่านเพิ่มเติม โรคข้อเสื่อมในผู้สูงอายุ)
4. อาการของโรคกระดูกพรุน
ส่วนใหญ่กระดูกที่พบว่ามีภาวะกระดูกพรุนมากได้แก่ กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก และกระดูกต้นแขน โดยโรคกระดูกพรุนส่งผลให้เกิดภาวะกระดูกหักซึ่งอาจเกิดจากการได้รับอันตรายแบบซ้ำๆ หรือได้รับอันตรายแบบเฉียบพลัน เช่นการยกของหนักทันที การโค้งตัวหรือการหกล้ม การเสื่อมของกระดูกสันหลังนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงรูปร่างและความสูง โดยจะมีอาการได้แก่ หลังโก่ง ความสูงลดลงและอาการปวดจากการยุบตัวของกระดูกสันหลังส่วนล่าง อาจนำมาสู่ภาวะกระดูกสะโพกหักที่พบได้บ่อยเนื่องจากการลดลงของแรงต้านและการลดลงของมวลกระดูก
5. การป้องกันโรคกระดูกพรุน
การป้องกันโรคกระดูกพรุนมุ่งเน้นรูปแบบป้องกันโดยการไม่ใช้ยาเนื่องจากมีประสิทธิภาพดีและต้นทุนต่ำ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากประกอบด้วยวิธีหลักคือ การออกกำลังกาย (อ่านเรื่องการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ) การปรับรูปแบบอาหารและสารอาหาร การปรับแบบแผนการดำเนินชีวิต ป้องกันการหกล้มเป็นต้น รูปแบบต่างๆดังที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นได้แก่:
5.1) การออกกำลังกายที่เหมาะสม ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักที่กระดูก อาทิ การเดิน การวิ่งเหยาะ และการออกกำลังกายแบบต้านทานน้ำหนัก เช่น การยกย้ำหนัก โดยการออกกำลังกายเหล่านี้จะช่วยเพิ่มมวลกระดูก การออกกำลังกายควรมีระยะเวลาประมาณ 30-40 นาที เป็นเวลา 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยลดการสูญเสียกระดูกโดยเฉพาะบริเวณกระดูกสันหลังและกระดูกสะโพก
ในส่วนของการออกกำลังกายเพื่อป้องกันการหกล้มประกอบด้วยการออกกำลังกายเพื่อช่วยการทรงตัวและเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนล่าง เช่น การเดิน วิ่งเหยาะๆ การเต้นรำ หรือ เต้นแอโรบิค
สำหรับผู้ที่มีกระดูกบางแนะนำให้ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนักที่กระดูกแต่แรงกระแทกต่ำ เช่นการเดินต่อเนื่อง 40 นาที สัปดาห์ละ 3-4 วัน รวมถึงการบริหารกล้ามเนื้อหลัง การฝึกการทรงตัว และการฝึกท่าทาง จะช่วยป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก
5.2) การรับประทานอาหาร อาหารที่ช่วยในการซ่อมแซมกระดูก ได้แก่ โปรตีน วิตามินซี แมกนีเซียม สังกะสี ฟอสฟอรัส แมงกานีส ที่สำคัญคือแคลเซียม วิตามินดี และ วิตามินเค
ควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงประมาณ 1200-1500 มิลลิกรัมต่อวัน โดยอาหารที่มีแคลเซียมสูงได้แก่ กุ้งแห้งตัวเล็ก กุ้งฝอย กะปิ ปลาสลิด งาดำคั่ว เต้าหู้ ถัวเหลืองสุก ถั่วเขียวสุก ใบยอ ผักคะน้า มะเขือพวง ผู้สูงอายุควรดื่มนมเป็นประจำ หรือถ้าได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอแนะนำให้รับประทานแคลเซียมเสริม โดยควรเป็นแคลเซียมซิเตรทมากกว่าแคลเซียมคาร์บอเนต
การรับประทานอาหารที่มีวิตามินดี หรือพยายามให้ร่างกายได้รับแสงแดดประมาณวันละ 10-15 นาที วิตามินดีมีผลต่อการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้ และควบคุมการขับถ่ายแคลเซียมออกจากไต ควบคุมการสะสมแคลเซียมบนกระดูก ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน อาหารที่มีวิตามินดีสูงได้แก่ ไข่แดง ตับ และเนื้อสัตว์
5.3) ควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารประเภทโปรตีนจากเนื้อสัตว์มากเกินไปคือมากกว่า 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม เนื่องจากทำให้ร่างกายเป็นกรด ส่งผลให้มีการสลายแคลเซียมออกจากกระดูกเพื่อลดความเป็นกรดในร่างกาย และทำให้แคลเซียมถูกขับออกทางปัสสาวะมากขึ้น
5.4) หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารประเภทผักชนิดเดียวกันเป็นเวลานาน เนื่องจากผักบางชนิดมีเส้นใยสูง ซึ่งอาจจะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมจากลำไส้เล็ก
5.5) รับประทานอาหารที่มีวิตามินเค เช่น เนื้อสัตว์ นม ผักใบเขียว จะช่วยในกระบวนการเติมเกลือแร่ในกระดูกที่สร้างใหม่ ส่งผลให้กระดูกมีความแข็งแรงมากขึ้น ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน
5.6) หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อาทิเช่น กาแฟ ชา โกโก เนื่องจากคาเฟอีนมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะทำให้สูญเสียแคลเซียมออกมากับปัสสาวะมากขึ้น
5.7) หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีฟอสฟอรัสสูง อาทิ น้ำอัดลมที่ผสมคาร์บอเนต
5.8) หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์ ไวน์
5.9)หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินทำลายฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ตับและทำให้การดูดซึมแคลเซียมลดลง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุนได้
5.10) ระมัดระวังการรับประทานยาบางชนิด เช่นยาลดกรดที่มีอลูมีนัมเป็นส่วนผสม ยากันชัก ฮอร์โมนรักษาโรคคอพอกเป็นพิษ และยาเฮพาริน โดยถ้าต้องรับประทานต่อเนื่องควรปรึกษาแพทย์
แหล่งที่มาข้อมูลเรื่องโรคกระดุกพรุนในผู้สูงอายุ: การพยาบาลผู้สูงอายุโดย ผศ.ดร.ศิริรัตน์ ปานอุทัย