โรคข้อเสื่อม
โรคข้อเสื่อมเป็นอะไรที่ใกล้ตัวเราทุกคนมาก เราคงเคยได้ยินหลายคนพูดกันว่าช่วงนี้เวลายืนนานๆ จะปวดหัวเข่า หรือ เวลาเดินจะได้ยินเสียงดังกร๊อบแกร็บๆ บริเวณหัวเข่า เคยสงสัยกันไหมว่ามันคือเสียงอะไร? แล้วมันจะรุนแรงขึ้นไหมถ้าเราปล่อยไว้โดยไม่ไปพบหมอ? ทำไมถึงสำคัญกับเราและผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก? วันนี้ทาง Zee Doctor จะนำข้อมูลมาโรคข้อเสื่อมอธิบายให้ฟังกัน:
สารบัญเนื้อหา
โรคข้อเสื่อมคืออะไร?
โรคข้อเสื่อม หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า (osteoarthritis) เป็นโรคของข้อที่มีเยื่อหุ้มข้อโดยมีการสึกหรอของกระดูกอ่อนผิวข้อ โดยไม่มีการอักเสบ ปกติจะเกิดกับสภาพของข้อที่รับน้ำหนัก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก และข้อที่ทำงานบ่อย เช่น ข้อนิ้วมือ โรคข้อเสื่อมยังเป็นความผิดปกติของข้อที่พบได้บ่อยในช่วงเข้าสู่วัยกลางคนและพบได้เพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้นเรื่อยๆ ตำแหน่งที่พบโรคข้อเสื่อมบ่อยได้แก่ส่วนข้อที่รับน้ำหนักมาก เช่น ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อต่อกระดูกสันหลัง เป็นต้น
ข้อเข่าและข้อสะโพกเสื่อมมักทำให้เกิดความรำคาญเนื่องจากจะทำให้มีอาการปวดหรือไม่สบายข้อเมื่อต้องยืนหรือเดิน ในขณะที่ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อมจะเป็นเหตุให้ปวดหลังและปวดต้นคอหรือคอแข็งตึงได้ แม้ว่าโรคข้อเสื่อมจะพบในข้อที่ต้องรับน้ำหนัก แต่ก็สามารถพบที่ข้อต่างๆทั่วร่างกายได้โดยเฉพาะข้อที่เคยได้รับการบาดเจ็บ มีการติดเชื้อ หรือเคยมีข้ออักเสบนำมาก่อน
สำหรับผู้ป่วยข้อนิ้วมือเสื่อมจะมีอาการปวด ชา หรือแข็งตึงขยับนิ้วลำบาก และตรวจพบก้อนหรือปุ่มกระดูกโตขึ้นที่บริเวณข้อนิ้วมือด้วย
โรคข้อเสื่อมเกิดจากอะไร?

โรคข้อเสื่อมเป็นโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนผิวข้อ(articular cartilage) ในข้อที่มีเยื่อบุ ซึ่งการทำลายของกระดูกอ่อนผิวข้อเกิดขึ้นอย่างช้าๆ อย่างต่อเนื่องโดยมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางชีวเคมี การเคลื่อนไหว และ โครงสร้างทางกายภาพ
โดยปกติภายในข้อประกอบไปด้วยเยื่อบุข้อ น้ำไขข้อ และกระดูกอ่อนผิวข้อ กระดูกอ่อนผิวข้อจะทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวดูดซับแรงกดภายในข้อและป้องกันมิให้กระดูกที่อยู่ภายใต้กระดูกอ่อนกระแทกกับกระดูกอีกฝั่ง หากกระดูกอ่อนผิวข้อเหล่านี้ถูกทำลายไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตามน้ำหนักหรือแรงกดที่กระทำกับข้อ ก็จะส่งผลให้กระดูกใต้ต่อกระดูกอ่อนผิวข้อสัมผัสกัน กล้ามเนื้อและเอ็นรอบข้อถูกยืด เป็นเหตุให้เกิดอาการปวดตามมา
ในปัจจุบันยังไม่ทราบว่าอะไรเป็นสาเหตุทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลาย แต่ปัจจัยที่น่าจะมีส่วนร่วมทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายและเกิดโรคข้อเสื่อมได้แก่:
- น้ำหนักตัว การที่มีน้ำหนักตัวมากจะส่งผลให้เกิดแรงกดภายในข้อที่รับน้ำหนักเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
- กิจกรรมบางอย่างที่ส่งผลให้ข้อต้องรับแรงกดมากจนเกินไปเช่น การนั่งคุกเข่า หรือนั่งพับเพียบนาน
- ปัจจัยทางพันธุกรรม โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีประวัติข้อและกระดูกอ่อนผิวข้ออ่อนแอ
- อายุ อายุมากมีโอกาสพบโรคข้อเสื่อมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน เนื่องจากผู้สูงอายุบางรายก็ไม่พบโรคข้อเสื่อม
การเปลี่ยนแปลงของข้อและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ

การเปลี่ยนแปลงของข้อมีความแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อเนื่องจากการใช้งานมากและการออกกำลังกายส่งผลต่อความเสื่อมของข้อ
- การเสื่อมของกระดูกอ่อนรอบข้อ ส่วนใหญ่จะเป็นข้อที่ลงน้ำหนัก และมีการสร้างกระดูกบริเวณข้อมากขึ้น เยื่อหุ้มข้อเสื่อม เนื้อเยื่อเกี่ยวพันเพิ่มจำนวนมากขึ้น และเมื่อไม่ได้ใช้จะมีอาการอักเสบ ปวด การเคลื่อนไหวข้อลดลง และผิดรูป
- น้ำหล่อเลี้ยงข้อหนืดน้อยลง
- เซลล์คอลลาเจนและอีลาสตินเสื่อม
- เยื่อหุ้มข้อมีแคลเซี่ยมมาเกาะมากขึ้นและมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันมากขึ้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคข้อเสื่อม

ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดโรคข้อเสื่อมมีดังนี้:
1). อายุ เมื่ออายุมากขึ้นมีโอกาสเกิดโรคข้อเสื่อมเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบในกระดูกอ่อนผิวข้อ เช่น proteoglycan ลดจำนวนลงและขนาดสั้นลง hyaluronic acid มีจำนวนมากขึ้นแต่ความยาวเฉลี่ยสั้นลง คอลลาเจนมีจำนวนลดลง เส้นใยบางลง และมีจำนวนเลือดมาเลี้ยงกระดูกใต้กระดูกอ่อนลดลง ทำให้ความสามารถในการซ่อมแซมบริเวณรอยต่อกระดูกอ่อนผิวข้อและกระดูกลดลง ดังนั้นโรคข้อเสื่อมจึงมีโอกาสเกิดในกลุ่มผู้สูงอายุมากกว่า
2). เพศ เพศหญิงหลังจากหมดประจำเดือนจะมีภาวการณ์เกิดโรคข้อเสื่อมมากกว่าเพศชาย เนื่องจากฮอร์โมนเอสโตรเจนมีผลต่อซัยโตไคน์ นอกจากนั้นตัวรับเอสโตรเจนที่กระดูกผิวข้อลดลง โดยเอสโตรเจนมีบทบาทในการกระตุ้นสารตัวกลางและปรับเปลี่ยนการทำงานของซัยโตไคน์ นอกจากนั้นยังมีบทบาทในการกระตุ้นการสร้างและการซ่อมแซมส่วนประกอบนอกเซลล์กระดูกอ่อนผิวข้อ ช่วยให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มวลกระดูกเพิ่มสูงขึ้น
3). พันธุกรรม มีหลักฐานที่แสดงถึงปัจจัยทางพันธุกรรมต่อโรคข้อเสื่อม
4). ภาวะอ้วน เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มแรงกระทำต่อเข่า ทำให้เกิดภาวะของโรคข้อเสื่อมโดยเฉพาะข้อเข่า ทั้งนี้สามารถเกิดได้ในวัยกลางคนหรือวัยสูงอายุ ฉะนั้นควรควบคุมโภชนาการอาหารให้เหมาะสมเพื่อป้องกันโรคข้อเสื่อม
5). การใช้งาน ในส่วนของข้อหนักจนเกินไป สามารถทำให้เกิดโรคข้อเสื่อมก่อนวัยอันควรได้ การปฏิบัติกิจกรรมในการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็มีผลต่อการเสื่อมของข้อ อาทิเช่น การนั่งคุกเข่า การนั่งสมาธิ โดยมีแรงกระทำต่อข้อเข่าบ่อยๆ เป็นเวลานานๆ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมของข้อได้
6). อุบัติเหตุ ที่ส่งผลกระทบให้เกิดโรคข้อเสื่อม มีอาการบาดเจ็บ หรือได้รับบาดเจ็บ โดนกระทำรุนแรงต่อข้อจนทำให้ข้อผิดรูปหรือผิวข้อเกิดการแตกหัก
ในครั้งหน้าทาง Zee Doctor จะมาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ 10 อาการของโรคข้อเสื่อมที่มีผลต่อการใช้ชีวิตของเราและผู้สูงอายุ
แหล่งที่มาข้อมูลเรื่องโรคข้อเข้าเสื่อม:
การพยาบาลผู้สูงอายุ โดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ ปานอุทัย
โรคข้อเข่าเสื่อม โดย: สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย: https://bit.ly/2ViVnDL