3 โรคที่เกี่ยวกับตาในผู้สูงอายุ

 เมื่ออายุมากขึ้นจะพบลักษณะอาการของการมองเห็นที่ผิดปรกติเกิดขึ้นได้ เช่นตาพร่ามัว ทนต่อแสงสว่างไม่ได้ มองเห็นคล้ายมีแสงฟ้าแลบ หรือรู้สึกคล้ายมีจุดดำๆลอยผ่านไปมา ความผิดปรกติดังกล่าวเป็นผลมาจากการแก่ตัวลงและชราภาพของร่างกาย นอกจากนั้นการมองเห็นผิดปรกติหรือการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุยังอาจเกิดจากโรคที่เกิดขึ้นกับดวงตา

 โดยพบว่าโรคที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นในผู้สูงอายุประกอบไปด้วย 3 โรคหลักได้แก่: โรคต้อกระจก โรคต้อหิน และโรคจอประสามทตาเสื่อม ซึ่งในที่นี้ Zee Doctor จะพูดถึงรายละเอียดของ 3 โรคดังกล่าวต่อไปนี้

eyes-disease-elderly

credit pic by rawpixel.com – www.freepik.com

ต้อกระจก

 ความหมายของโรค: โรคต้อกระจกเป็นภาวะที่มีการขุ่นของเลนส์หรือปลอกหุ้มเลนส์ ทำให้แสงผ่านเข้าได้ไม่เต็มที่ ซึ่งพบบ่อยในผู้สูงอายุ ปรกติเลนส์จะทำหน้าที่รวมแสงให้ไปตกที่จอรับภาพเพื่อให้เห็นภาพชัดทั้งในระยะใกล้และไกล เลนส์ประกอบด้วยน้ำและโปรตีนโดยส่วนที่เป็นโปรตีนจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เลนส์ใสหรือให้แสงผ่านได้ ในผู้สูงอายุโปรตีนในเลนส์อาจจะจับเป็นก้อนทำให้เลนส์ขุ่นขึ้นบางส่วน เมื่อระยะเวลานานขึ้นบริเวณที่ขุ่นจะมีมากขึ้นทำให้ตามัวมองเห็นไม่ชัด

สาเหตุของการเกิดต้อกระจก:

elderly-eyes-disease

credit pic by user18526052 – www.freepik.com

 สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่หลักสำคัญอย่างหนึ่งของต้อกระจกคือการที่ตาถูกแสงแดด     หรือแสงอุลตร้าไวโอเลตเป็นเวลานาน นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆที่พบว่าทำให้เกิดต้อกระจกได้ดังนี้

  1. ปัจจัยส่วนบุคคลได้แก่ อายุมากขึ้น เนื่องจากเมืออายุมากขึ้นจะมีการเพิ่มขึ้นของไขมันชนิด สฟิงโกไลปิดในเลนส์ตา เพศหญิงมีโอกาสเกิดมากกว่าเพศชายเนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันการเกิด oxidative stress ที่เป็นสาเหตุทำให้เกินต้อกระจก
  2. ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การสูบบุหรี่ การได้รับแสงอุลตร้าไวโอเลต ขาดสารอาหาร ดื่มสุรา ได้รับยาสเตอรอย ยาแอสไพริน หรือ hormone replacement therapy มีประวัติเป็นโรคผิวหนังอักเสบจากภูมแพ้เป็นต้น

 อาการของผู้ที่เป็นต้อกระจกจะไม่มีอาการไม่สุขสบายหรือเจ็บปวด แต่อาการจะประกอบด้วยการมองเห็นที่ค่อยๆลดลงเรื่อยๆ และเมื่อเลนส์ขุ่นมากขึ้นจะมองเห็นไม่ชัด มองเห็นภาพขุ่นมัวและความสามารถในการมองเห็นตอนกลางคืนลดลง เมื่อเลนส์ขุ่นเต็มที่หรือสูญเสียการมองเห็นเต็มที่ ผู้สูงอายุจะทนแสงสว่างหรือแสงจ้าไม่ได้ เนื่องจากเลนส์ที่ขุ่นทำให้แสงแตกกระจายมากกว่าเลนส์ที่ใสปรกติ

เลนส์จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือน้ำตาลปนเหลือง สีของรูม่านตาจะเปลี่ยนจากสีดำเป็นสีขาวขุ่น ผู้สูงอายุบางรายอาจจะมองเห็นตัวหนังสือหรือสิ่งของเล็กๆได้ชัดขึ้นโดยไม่ต้องสวมแว่นตาเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของเลนส์ทำให้มองระยะใกล้ชัดขึ้น

ต้อหิน

problems-eyes-for-elderly

credit pic by freepik – www.freepik.com

 ความหมายของโรค: ต้อหินเป็นโรคทีเกิดจากความเสื่อมของตา ทำให้ประสาทตาถูกทำลายเนื่องจากความดันในลูกตาที่สูงขึ้น เป็นความผิดปรกติขิงตาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุรองจากต้อกระจก และเป็นสาเหตุของอาการตาบอดในผู้สูงอายุ พบได้ในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนใหญ่จะเกิดจากการเสื่อมของร่างกายเอง

 โรคต้อหินเป็นกลุ่มโรคที่มีการเปลี่ยนแปลงทำลายของขั้วประสาทตา ไม่มีสาเหตุปัจจัยภายนอก หรือพบร่วมกับโรคทางตาอื่นๆที่แทรกซ้อนมาจากอุบัติเหตุหรือการผ่าตัดรักษาโรคอื่นๆ ในดวงตา หรือแม้แต่เกี่ยวพันกับโรคทางกายอื่นๆ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดและเป็นปัจจัยเดียวที่ควบคุมเปลี่ยนแปลงได้ก็คือ ความดันในลูกตาที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะเพิ่มสูงขึ้นเองตามธรรมชาติเนื่องจากความเสื่อมข้างในลูกตาหรือเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากยาที่ใช้ อุบัติเหตุหรือการผ่าตัด

ชนิดและอาการของต้อหิน:

ต้อหินแบ่งออกเป็น 2 ชนิดดังนี้:

  1. ต้อหินชนิดเฉียบพลันหรือชนิดมุมปิด ผู้สูงอายุจะมีอาการปวดตามาก ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน เนื่องจากมีความดันในลูกตาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีอาการบวม และรูม่านตาขยาย จะมองเห็นภาพมัวจนถึงมองไม่เห็นได้ถ้าไม่รีบรักษาภายใน 1 วัน
  2. ต้อหินชนิดเรื้องรัง หรือชนิดมุมเปิด เป็นชนิดที่พบได้บ่อย อาการจะค่อยเป็นค่อยไปทำให้ผู้สูงอายุไม่ตระหนักว่าตนเองมีปัญหาการมองเห็น จะค่อยๆสูญเสียการมองเห็นด้านขอบนอกของลานสายตา อาจจะเริ่มรับรู้เมื่อเดินชนสิ่งต่างๆ หรือรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนแว่นตาบ่อย

 ผู้ป่วยจะบ่นว่ารู้สึกเมื่อยตา ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว หรือเห็นแสงเป็นวงๆ ซึ่งอาการมักเกิดตอนเช้า อาจพบกระจกตาขุ่น ม่านตาขยาย และไม่หดตัว อาการดังกล่าวมักเกิดกับตาเพียงข้างเดียวแต่ถ้าไม่รักษาอาจเกิดกับตาทั้งสองข้างได้

จอประสาทตาเสื่อม

elderly-eyes-problems

credit pic by katemangostar – www.freepik.com

 ความหมายของโรค: จอประสาทตาเสื่อมเป็นภาวะที่มีการเสื่อมทำลายของจอประสาทตา ความบกพร่องในการมองเห็นของผู้ที่มีจอประสาทตาเสื่อมเกิดจากการเสื่อมของเซลล์ rods และ cones ซึ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุมีการสูญเสียการมองเห็นบริเวณส่วนกลางของลานตา

ชนิดและอาการของจอประสาทตาเสื่อม:

จอประสาทตาเสื่อมแบ่งเป็น 2 ชนิดดังนี้:

  1. จอประสาทตาเสื่อมชนิดแห้ง พบว่าร้อยละ 85-90 ของจอประสาทตาเสื่อมจะเป็นชนิดนี้ เมื่อตรวจจอตาจะพบ drusen แต่จะไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นมากนัก ผู้สูงอายุจะดำเนินชีวิตอยู่ได้ตามปรกติ จอประสาทตาเสื่อมชนิดนี้ไม่สามารถรักษาได้ แต่สามารถทำให้เสื่อมช้าลงได้โดยการรับประทานวิตามีน เอ ซี อี และสังกะสีในขนาดสูงๆ
  2. จอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก ชนิดนี้จะมีการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว จะมองเห็นภาพมัวไม่ชัด สูญเสียการมองเห็นบริเวณส่วนกลางของลานสายตา จอประสาทตาเสื่อมชนิดนี้เกิดจากมีการรั่วซึมของของเหลวหรือเลือดเข้าไปอยู่บริเวณใต้จอประสาทตา

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง:

 สาเหตุส่วนใหญ่ของจอประสาทตาเสื่อมเกิดจากการเสื่อมตามวัย โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป นอกจากการเสื่อมตามวัยแล้ว จอประสาทตาเสื่อมอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้

  1. อายุยิ่งมากขึ้น ยิ่งมีความเสี่ยงสูงขึ้น
  2. พันธุกรรม พบว่าฝาแฝดจะเกิดโรคนี้ได้เหมือนๆกัน และพบว่าคนที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ มีโอกาสที่จะเกิดโรคนี้สูงกว่าคนทั่วๆไป
  3. เพศ บางรายงานพบว่าเพศหญิงเป็นมากกว่าเพศชาย แต่บางรายงานพบว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนน่าจะป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ ดังนั้นผู้หญิงวัยขาดฮอร์โมนนี้จึงเป็นโรคนี้ได้บ่อยกว่าวัยอื่น
  4. เชื้อชาติ พบว่าคนผิวขาวมีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าคนชาติอื่นๆ
  5. ผู้ที่มีสายตายาว มีโอกาสเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ที่มีสายตาสั้นหรือสายตาปรกติ
  6. ผู้ที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด และ ผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง
  7. ผู้ที่ตาได้รับแสงแดดมาเป็นเวลานาน
  8. ผู้ที่สูบบุหรี่เรื้อรัง หรือ ได้รับควันบุหรี่เรื้อรัง รวมทั้งผู้ที่ดื่มสุรา
  9. ผู้ที่ขาดอาหารหลัก 5 หมู่ และอาจขาดสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิด

การป้องกันจอประสาทตาเสื่อม:

 จอประสาทตาเสื่อมสามารถป้องกันได้โดยการรับประทานอาหารให้ครบส่วน รับประทานผักผลไม้ให้มาก รับประทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระและอาหารที่มีวิตามิน เอ ซี อี สูง จะทำให้สุขภาพตาดีขึ้นและส่งเสริมสุขภาพของจอประสาทตา มีการศึกษาพบว่าผู้สูงอายุที่มีภาวะจอตาเสื่อมในระดับปานกลางถึงมาก เมื่อได้รับวิตามิน เอ ซี อี และสังกะสีจะลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็น และคนที่รับประทานลูทีน เช่นผักคะน้าสุก ผักปวยเล้งดิบ ผักกาดแก้วและโอเมก้า-3 จะมีโอกาสเกิดจอรับภาพเสื่อมน้อย นอกจากการรับประทานอาหารที่เหมาะสมแล้ว ผู้สูงอายุควรเลิกสูบบุหรี่ ควรสวมแว่นตากันแดดเมื่อออกจากบ้าน รักษาโรคที่เป็นอยู่โดยเฉพาะเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและควรไปพบจักษุแพทย์เป็นประจำ 

ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูลเรื่อง: การพยาบาลผู้สูงอายุที่มีปัญหาการมองเห็น

จากหนังสือ: การพยาบาลผู้สูงอายุโดย ผศ.ดร.ทศพร คำผลศิริ

อันดับแรก ต้องเข้าใจกันก่อนว่ารถเข็นที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่:

ประเภทแรก รถเข็น Wheel Chair แบบต้องใช้กำลังคนขับเคลื่อน ซึ่งก็สามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีก 2 ประเภท:

  1. Transport wheel chair– รถเข็น Wheel Chair ประเภทนี้จำเป็นต้องอาศัยคนช่วยเข็นเท่านั้น คนนั่งไม่สามารถเข็นเองได้ นิยมใช้งานกันในโรงพยาบาลเพื่อเคลื่อนย้ายคนไข้จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง รถเข็นลักษณะนี้ จะมีล้อหลังขนาดเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ประมาณ 8-14นิ้ว ผู้นั่งจะไม่สามารถเอื้อมมือไปขยับล้อเพื่อเคลื่อนไหวรถเข็นด้วยตัวเองได้ ข้อดีคือน้ำหนักเบา ราคาค่อนข้างถูก
  2. Manually propelled wheel chair– รถเข็น Wheel Chair ประเภทนี้ผู้ใช้งานสามารถที่จะขยับรถเข็นเคลื่อนที่เองได้โดยจะต้องใช้แขนทั้งสองข้างในการช่วยหมุนล้อ ส่วนในกรณีที่ต้องการเบรก ผู้ใช้งานต้องใช้แขนทั้งสองข้างจับที่วงปั่นเพื่อช่วยในการชะลอผ่อนความเร็ว รถเข็นประเภทนี้ จะมีล้อหลังขนาดใหญ่ตั้งแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-24นิ้ว (51-61 ซ.ม.) ข้อดีคือผู้ใช้งานสามารถบังคับควบคุมรถได้ด้วยตนเอง

ประเภทที่สอง รถเข็น Wheel Chair ที่ใช้พลังงานภายนอก หรือ นิยมเรียกกันว่า รถเข็นไฟฟ้า

คือรถเข็นที่ใช้ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน โดยลักษณะภายนอกของรถเข็นและการใช้งานจะเหมือนกับแบบที่ใช้กำลังคนในการขับเคลื่อน แต่จะถูกติดตั้งเพิ่มเติมด้วยระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าทำให้ผู้ใช้งานสามารถบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ไปในทางที่ต้องการได้ รถเข็นแบบนี้นิยมใช้กับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยหนักไม่สามารถควบคุมการทำงานภายในร่างกายได้ หรือพิการ เป็นอัมพาตจนร่างกายขยับไม่ได้

รถเข็นไฟฟ้าช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุได้เป็นอย่างมากโดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ไม่สามารถขยับเขยื้อนช่วงล่างของร่างกายได้เลย ผู้ใช้งานสามารถบังคับรถเพื่อหลบหลีกทาง หรือ เขยิบไปในจุดที่สะดวกได้ด้วยตนเองหรือในขณะที่คนเข็นรถไม่อยู่

ข้อแนะนำในการเลือกรถเข็นผู้ป่วย ผู้สูงอายุ:

  1. ควรเลือกแบบที่สามารถพับเก็บได้เพื่อความสะดวกในการพกพาไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อความง่ายในการเคลื่อนย้าย
  2. รถเข็นควรมีเบรกและระบบล๊อคล้อเพื่อความปลอดภัย
  3. กรณีเป็นผู้ป่วยหนักจำเป็นต้องใช้รถเข็นในระยะเวลานาน ควรเลือกซื้อแบบที่ทนทาน มีน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวก หากต้องเดินทางเป็นประจำควรซื้อแบบที่ทำด้วยอลูมิเนียม
  4. รถเข็นที่ดีต้องมีความเหมาะสมกับผู้ใช้งาน ต้องไม่เทอะทะ ความลึกของเบาะนั่งต้องพอดีกับร่างกาย เมื่อนั่งแล้ว สะโพกและข้อเข่าควรงอทำมุมฉาก ควรมีช่องว่างระหว่างขอบที่นั่งกับข้อพับเข่าของผู้ป่วยเล็กน้อย หากที่นั่งลึกเกินไปอาจเกิดการเสียดสีเป็นแผลที่ใต้เข่าหรือผู้ป่วยอาจเลื่อนไหลตัวไปด้านหน้าจนอาจตกจากรถเข็นได้
  5. ต้องมีความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน โดยควรคำนึงถึงความสูงของพนักพิงว่าต้องพอดี หากผู้ป่วยมีอาการที่ทรงตัวไม่ดี ควรใช้พนักพิงที่พอเหมาะพอดีกับตัว หากผู้ใช้งานทรงตัวดี ต้องการความคล่องตัวในการเข็นรถด้วยตนเองให้เลือกใช้พนักพิงแบบต่ำ
  6. ที่วางเท้าต้องพอเหมาะในขณะที่ผู้สูงอายุนั่ง ข้อเข่าและข้อเท้าควรงอตั้งฉากกัน ไม่ควรงอหรือเหยียดจนเกินไป หรือหากที่วางเท้าสูงเกินไปอาจส่งผลให้เกิดแรงกดไปที่ก้นมากจนอาจเกิดอันตราย เมื่อใช้ไปนานเข้าอาจทำให้ปวดหลังหรือเกิดแผลกดทับที่ก้นขึ้นมาได้

เครดิตข้อมูลจาก site :       

Phartrillion: https://phartrillion.com/how-to-choose-wheelchair/

ราคาเครื่องมือแพทย์.com:  https://bit.ly/38GGrWs