ช่วงนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าฝุ่น PM 2.5 ได้กลับมาสร้างปัญหาด้านสุขภาพของผู้คนในประเทศไทยโดยเฉพาะเขตกรุงเทพมหานครฯ ปริมณฑล และตามหัวเมืองใหญ่ ช่วงปลายหน้าฝนต้นหนาวที่บางวันมีสภาพอากาศปิดทำให้ฝุ่นเกิดการสะสมบนท้องฟ้าไม่สามารถระบายออกไปได้ จึงเกิดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน และยิ่งฝนตกน้อยลง ทำให้ฝุ่น PM 2.5 กระจายตัวเพิ่มขึ้น
ช่วงเช้าๆพอเราออกไปนอกบ้านมองไปบนท้องฟ้าอาจเข้าใจผิดนึกว่าเป็นหมอก แต่ทำไมมันหายใจติดขัดและแสบตา พอมานึกได้อีกที ก็เข้าใจแล้วว่าจริงๆมันคือฝุ่น PM 2.5 ตัวร้ายที่ทำลายสุขภาพเด็ก ผู้ใหญ่ รวมทั้งผู้สูงอายุ
วันนี้ทาง Zee Doctor จะมาอธิบายความหมายของฝุ่น PM 2.5 ว่ามันคืออะไร รวมทั้งเราจะป้องกันอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 นี้ในผู้สูงอายุได้อย่างไร
ฝุ่น PM 2.5 คืออะไร?
PM 2.5 คือละอองฝุ่นขนาดเล็กมาก เล็กกว่า 2.5 ไมครอน (เส้นผ่าศูนย์กลางของฝุ่นน้อยกว่า 2.5 ไมครอน) หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผม
ฝุ่น PM 2.5 เกิดจากกิจกรรมต่างๆหลายชนิด อาทิเช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล การก่อสร้างตึก อาคารบ้านเรือน การปล่อยควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และ การเผาป่าของชาวบ้านตามต่างจังหวัดเพื่อเตรียมการเพาะปลูก
Credit picture by freepix – tartila
ฝุ่น PM 2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากเพราะมีขนาดเล็ก สามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด หืดหอบ โรคหัวใจ และมีอาการแสบ เคืองตา เราต้องป้องกันด้วยการสวนใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานป้องกันฝุ่นขนาดเล็กโดยเฉพาะ
ข้อมูลอ้างอิง BBC Thai: https://www.bbc.com/thai/thailand-46643980
5 วิธีป้องกันฝุ่น PM 2.5 ในผู้สูงอายุ
Credit picture by freepix – skawee
1. หลีกเลี่ยงการออกไปนอกบ้าน งดการออกกำลังกายนอกบ้าน
ในช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 มีปริมาณสูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน (ค่า AQI ตั้งแต่ 101 ขึ้นไปสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงของโรคระบบทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และผู้สูงอายุ หรือค่า AQI ตั้งแต่ 151 ขึ้นไปสำหรับคนธรรมดาทั่วไป) ถ้าเป็นไปได้แนะนำให้ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน หรือ ถ้าจำเป็นต้องออก ให้สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานเพื่อป้องปรามอาการของโรคที่
อาจจะเกิดขึ้น เพราะผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความอ่อนไหวต่อโรค อาจมีอาการไม่สบายอันเนื่องมาจากฝุ่น PM 2.5 ทำให้ระบบหายใจเกิดความบกพร่องได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายภายนอกบ้าน อาทิ การเดินออกกำลังกายตอนเช้า หรือตอนเย็น ในสวนสาธารณะหรือสวนภายในบ้าน ขณะช่วงเวลาที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง
2. สวมใส่หน้าการอนามัย N95
ผู้สูงอายุควรหาซื้อหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองมาตรฐานแบบ N95 มาใช้ขณะอยู่ภายนอกบ้านเรือน ปัจจุบันหน้ากากแบบ N95 สามารถหาซื้อได้สะดวก มีขายตามร้านขายยาหรือร้านค้าทั่วไป ไม่แนะนำให้ใส่หน้ากากแบบปรกติเนื่องจากไม่สามารถดักจับฝุ่นขนาดเล็กแบบ PM 2.5 ได้
ในกรณีที่ผู้สูงอายุไม่สามารถหาหน้ากาก N95 ได้ แนะนำให้ผู้สูงอายุใช้หน้ากากอนามัยแบบธรรมดาแล้วนำทิชชู่มาซ้อนกัน 2 ชั้นบนหน้ากาก ช่วยป้องกันได้ในระดับหนึ่ง วิธีการใส่หน้ากากแบบ N95 ที่ถูกต้องดังนี้:
- ล้างมือให้สะอาด
- สอดมือให้อยู่ในลักษณะดังรูป
- ดึงสายรัดศีรษะเส้นล่างไว้ใต้หู และเส้นบนไว้เหนือหู
- กดโครงลวดให้แนบสันจมูก
- ทดสอบด้วยการดึงสายรัดให้ตึงไม่มีลมรั่วออกทางด้านข้าง
ขอบคุณข้อมูลภาพประกอบจาก wongnai: https://www.wongnai.com/trips/how-to-protect-yourself-from-dust
3. ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด ทำความสะอาดไส้กรองเครื่องปรับอากาศ ติดเครื่องกรองอากาศภายในบ้านหรือห้องนอน
แนะนำให้ผู้สูงอายุหรือคนในบ้านปิดประตู หน้าต่างให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันฝุ่น PM 2.5 เข้าสู่ภายใน การที่ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านหรืออาคารที่เปิดประตู หน้าต่าง ตามปรกติ จะได้รับผงฝุ่นเท่ากับอยู่ภายนอกบ้านทุกประการ
ช่วงที่ค่าฝุ่น PM 2.5 นี้มีปริมาณที่สูงอาจต้องอาศัยเปิดเครื่องปรับอากาศควบคู่กันไปก่อน ทั้งนี้ควรทำความสะอาดไส้กรองฝุ่นภายในเครื่องปรับอากาศด้วยเพราะไม่เช่นนั้นฝุ่นอาจเกิดการกระจายตัวจากเครื่องปรับอากาศเอง และอาจทำให้เครื่องปรับอากาศมีการอุดตันและเสียหายได้
ทางเลือกเพิ่มเติมคือผู้สูงอายุอาจหาซื้อเครื่องฟอกอากาศมาใช้งานภายในบ้าน การใช้เครื่องฟอกอากาศชนิดที่มีแผ่นกรอง HEPA ที่มีขนาดเหมาะสมกับขนาดห้องจะช่วยลดปริมาณฝุ่นควันได้มากกว่า เร็วกว่า และสามารถลดจนได้ระดับสภาพอากาศที่ปลอดภัย
ข้อมูลอ้างอิง Thai PBS: https://news.thaipbs.or.th/content/277387
4. ทำความสะอาดภายในบ้านเพื่อลดฝุ่น
Credit picture by freepix – nikkikii
การหมั่นทำความสะอาดภายในบ้านช่วยลดการเกิดฝุ่นได้เป็นอย่างดี เมื่อผู้สูงอายุได้ปิดประตู หน้าต่างอย่างมิดชิดแล้ว ฝุ่น PM 2.5 ก็ไม่สามารถเข้ามาภายในบ้านได้ เราก็ควรจะดูแลภายในให้สะอาด เป็นระเบียบอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ไม่ได้เฉพาะแค่เรื่องฝุ่นที่หมดไป แต่ความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสะอาดสะอ้านของบ้านยังช่วยลดอุบัติเหตุจากการหกล้ม เดินสะดุด และป้องกันโรคที่อาจจะเกิดขึ้นจากฝุ่นในผู้สูงอายุได้ด้วย
5. ดูแลร่างกายตนเองให้แข็งแรง
ผู้สูงอายุควรมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงเพื่อที่จะมีภูมิคุ้มกันโรคต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในสภาวะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดขึ้นอาจทำให้การออกกำลังกายภายนอกอาจไม่สะดวกนัก แต่การออกำลังกายเบาๆภายในบ้านพักก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
ผู้สูงอายุอาจรำมวยไทเก็กเบาๆภายในห้อง หรือ ขยับแขน ขยับขา เดินย่ำอยู่กับที่ก็เป็นการช่วยเสริมให้ร่างกายได้มีการเคลื่อนไหว หรือจะเดินบนลู่เดินอัตโนมัติ ปั่นเครื่องปั่นจักรยานก็เป็นการช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบการหายใจและปอดได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การรับประทานทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด พักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็สามารถช่วยป้องกันโรคประจำตัวได้ดี
เรียบเรียงข้อมูลโดย: Zee Doctor Admin