การดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการได้ยิน

 ปัญหาด้านการได้ยินเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความบกพร่องของอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินคือหู หากเป็นความผิดปรกติของหูชั้นนอกและหูชั้นกลางจะมีผลต่อการนำเสียง ถ้าหากมีความผิดปรกติของหูชั้นในจะไปรบกวนโครงสร้างประสาทการรับรู้

แต่ถ้ามีปัญหาความผิดปรกติของหูทั้ง 3 ชั้น จะทำให้การทำกิจกรรม รวมทั้งการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุเป็นปัญหาอย่างมาก ลูก หลาน หรือ ผู้ดูแล ควรคอยสังเกตอาการผิดปรกติเหล่านั้นที่อาจเกิดขึ้น

สารบัญเนื้อหา ยาวไปเลือกอ่าน

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงของปัญหาด้านการได้ยินในผู้สูงอายุ

 การได้ยินที่ปรกติจะต้องประกอบด้วยการทำงานที่ปรกติของอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการรับเสียงคือหู และสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยิน เมื่ออายุมากขึ้นการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ความชรา และความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ทำให้หูชั้นนอก ได้แก่ ใบหู และ รูหู หูชั้นกลาง ในส่วนของเยื่อแก้วหู และกระดูกส่วนต่างๆ และหูชั้นใน มีผลกระทบต่อการได้ยินในผู้สูงอายุ

 การเปลี่ยนแปลงของหูชั้นนอก เมื่ออายุมากขึ้น รูหูชั้นนอกจะมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งอาจมีผลต่อการสร้างและการเคลื่อนไหวของขี้หู โดยพบว่าผิวหนังในรูหูบางลงและแห้งมีการสร้างขี้หูมากขึ้น ขี้หูแห้งขึ้น ขนในรูหูจะแข็งและหยาบขึ้นโดยเฉพาะในเพศชาย

นอกจากนั้นกระดูกอ่อนในหูมีความยืดหยุ่นลดลง ส่งผลให้รูหูมีความคดเคี้ยวผิดปรกติมากขึ้นทำให้ยากในการขับขี้หูออก ผู้สูงอายุบางรายมีขี้หูน้อย ในขณะที่บางรายมีขี้หูมากอาจสะสมและอุดตันรูหูได้

ear-disease-elderly-women

Credit picture created by drobotdean – www.freepik.com

 การเปลี่ยนแปลงของหูชั้นกลาง ในผู้สูงอายุเยื่อแก้วหูจะมีเนื้อเยื่อคอลลาเจนมาแทนที่เนื้อเยื่ออิลาสติคทำให้เยื่อหูบางลง มีการแข็งตัวเพิ่มขึ้นยืดหยุ่นได้น้อยลง นอกจากนั้นการทำงานที่เสื่อมลงของกล้ามเนื้อและพังผืดรอบๆ เยื่อแก้วหูมีผลทำให้การดีดกลับของเยื่อแก้วหูลดลง

 เมื่อเสียงผ่านเยื่อแก้วหูจะเข้าสู่กระดูกสามชิ้นที่เชื่อมต่อกันโดยแต่ละชิ้นจะมีการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระ กระดูกทั้งสามจะทำหน้าที่ในการขยายเสียง ในผู้สูงอายุกระดูกเหล่านี้จะมีแคลเซียมมาเกาะทำให้เกิดการแข็งตัวและรบกวนการส่งผ่านของเสียงจากเยื่อแก้วหูไปยังกระดูกรูปไข่  สำหรับในผู้สูงอายุกล้ามเนื้อและพังผืดดังกล่าวอ่อนแอลงและยึดติดมากขึ้นส่งผลต่อการได้ยินและความชัดของเสียงในการได้ยินของผู้สูงอายุ

 การเปลี่ยนแปลงของหูชั้นใน ในผู้สูงอายุ เซลรับสัมผัสภายในหูชั้นในจะมีปริมาณลดลง เลือดไปเลี้ยงหูชั้นในน้อยลง การสร้างน้ำเหลืองลดลง ความยืดหยุ่นของเยื่อบุผนังลดลง มีการสูญเสียเซลล์ประสาทในอวัยวะรูปหอยโข่ง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลให้สูญเสียการได้ยินหรือที่เรียกว่าภาวะหูตึง ซึ่งมักจะเกิดกับหูเท่ากันทั้งสองข้าง

ผลกระทบของปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุ

ear-disease-can-not-hear-elderly

Credit picture created by rawpixel.com – www.freepik.com

ผลกระทบของปัญหาการได้ยินในผู้สูงอายุสามารถแบ่งได้เป็นผลกระทบสองปัจจัยอันได้แก่:

  • ผลกระทบด้านคลินิก เป็นผลกระทบที่เกิดจากความผิดปรกติของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการได้ยิน ซึงทำให้ผู้สูงอายได้ยินเสียงผิดปรกติ อาทิ ได้ยินเสียงภายนอกลดลงหากไม่มีการขยายเสียง ผู้สูงอายุอาจได้ยินเสียงทุ้มหรือต่ำลดลงแต่ยังสามารถได้ยินเสียงดังหรือแหลมได้ตามปรกติ นอกจากนั้นยังมีความลำบากในการแยกเสียงแทรกอื่นๆ หรือเสียงพื้นหลังที่ดังรบกวนออกจากเสียงพูดปรกติได้
  • ผลกระทบด้านจิตสังคม ความบกพร่องของการได้ยินทำให้ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตในสังคมและใช้ชีวิตประจำวันได้ลำบากมากขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการสื่อสาร หรือทำงานอดิเรกบางอย่าง อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง พูดคุยกับผู้อื่น สิ่งเหล่านี้จะส่งผลต่อจิตใจของผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดการคับข้องใจ อาจเกิดความเครียดและไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ทางสังคม นอกจากนี้ปัญหาด้านการได้ยินยังทำให้ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุได้ง่ายอีกด้วยโดยเฉพาะอันตรายบนท้องถนน

การดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการได้ยิน

 ก่อนอื่นผู้ดูแลอาจจะต้องทำการสังเกตเบื้องต้นว่าผู้สูงอายุมีปัญหาด้านการได้ยินจากความบกพร่องด้านไหน อาทิ บกพร่องเนื่องจากความชราภาพของร่างกาย มีขี้หูอุดตันหรือไม่ หรือได้รับยาที่เป็นพิษต่อประสาทหู หรือเป็นโรคเกี่ยวกับหู การสื่อสารบกพร่องเพราะการได้ยินลดลงหรือสูญเสียการได้ยิน

2-elderly-ear-problem-disease

Credit picture created by katemangostar – www.freepik.com

4 วิธีการดูแลผู้สูงอายุที่มีปัญหาการได้ยิน

โดยหลักจะใช้วิธีลดและกำจัดปัจจัยเสี่ยงได้แก่:

  1. คอยสังเกตอาการของการได้ยินของผู้สูงอายุว่าได้ยินลำบากไหม หลังจากนั้นจึงแจ้งแพทย์ผู้รักษาให้ทราบเพื่อทำการรักษาและเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจจะมีพิษต่อหู
  2. ผู้สูงอายุที่มีขี้หูมากอาจทำให้มีการอุดตันได้ จึงควรให้คำแนะนำวิธีป้องกันการอุดตันโดยใช้สารละลายที่มีคุณสมบัติอ่อนๆ เช่น mineral water oil, ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์, หรือน้ำยาหยอดหูหยอดอาทิตย์ละ 2 ครั้ง จนถึงเดือนละครั้งแล้วแต่บุคคล
  3. ในกรณีของผู้สูงอายุที่มีการอุดตันของขี้หูและไม่มีการทะลุของเยื่อแก้วหู ไม่มีการติดเชื้อในหู หรือไม่มีอาการปวดหู ควรทำการล้างเพื่อเอาขี้หูออกมา โดยขั้นตอนต่อไปนี้:
    • ใช้สารละลาย Mineral Water Oil อุ่นๆ ประมาณ ครึ่ง-1 มิลลิลิตร หรือ 3% ของไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 30 มิลลิลิตร ผสมในน้ำอุ่น 1 ลิตร หรือใช้น้ำยาหยอดหูที่มีขายสำเร็จรูปหยอดหูวันละ 2 ครั้ง ทำหลายๆวันจนกระทั่งขี้หูอ่อนตัว
    • สวนล้างหูด้วยน้ำก๊อกอุณหภูมิปรกติโดยใช้กระบอกสูบ (syringe) และใช้แรงดันเบาๆ ห้ามดันอากาศเข้าในหู
    • ใช้ชามรูปไตวางรองใต้ใบหู นอนตะแคงเอาข้างที่จะล้างลงข้างล่าง ฉีดน้ำเข้าบริเวณผนังด้านข้างของรูหู ให้น้ำไหลลงในชามรูปไตและสังเกตสิ่งที่ออกมาจากหู
    • ฉีดสารละลายชนิดหยอดหูเช่น Otic solution หรือ 70% isopropyl alcohol หลังจากสวนล้างขี้หูออก ควรแนะนำวิธีป้องกันไม่ให้มีขี้หูอุดตันโดยใช้น้ำยาหยอดหู
  4. การใช้เครื่องอุปกรณ์ช่วยฟัง เครื่องช่วยฟังเป็นอุปกรณ์ที่ใช้เฉพาะราย ผู้สูงอายุที่จะใช้เครื่องช่วยฟังต้องได้รับการตรวจการได้ยินโดยแพทย์ เครื่องช่วยฟังไม่ได้ช่วยให้การได้ยินกลับคืนสู่ปรกติ แต่ใช้หลักการของการขยายเสียงช่วยให้ได้ยินชัดขึ้น ส่วนประกอบโดยทั่วไปของเครื่องช่วยฟังประกอบด้วย ไมโครโฟน สายนำเสียง และตัวรับเสียง

การสื่อสารกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการได้ยิน

elderly-ear-disease

Credit picture created by cookie_studio – www.freepik.com

แนวทางการสื่อสารกับผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการได้ยินควรทำดังนี้:

  • นั่งหรือยืนเผชิญหน้าใกล้ๆ กับผู้สูงอายุ พูดใกล้หูข้างที่ดี ขณะพูดให้แน่ใจว่าผู้สูงอายุให้ความสนใจมองหน้าผู้พูด
  • ควรพูดในที่ๆ มีแสงสว่างเพียงพอ ไม่ควรให้แสงเข้าด้านหลังของผู้พูดเพราะจะทำให้ผู้สูงอายุมองไม่เห็นหน้าและริมฝีปากของผู้พูดเนื่องจากมีแสงเข้าตา
  • ควรให้ผู้สูงอายุสวมแว่นตาขณะฟังผู้อื่นพูดเพื่อช่วยในการอ่านริมฝีปากผู้พูด และผู้พูดไม่ควรขยับริมฝีปากมากเกินความจริงเพราะจะรบกวนการอ่านริมฝีปากของผู้สูงอายุ
  • ถ้าผู้สูงอายุฟังไม่รู้เรื่องควรพูดซ้ำโดยใช้คำอื่นๆแทน และระหว่างพูด ผู้พูดไม่ควรหันหน้าไปทางอื่น
  • พยายามหลีกเลี่ยงเสียงรบกวนจากภายนอก
  • ไม่ควรพูดตะโกนเสียงดังจนเกินไป พูดให้ช้าๆ ชัดๆ
  • พยายามแนะนำด้วยคำพูดที่ง่ายๆ และถามกลับเพื่อประเมินการได้ยิน หลีกเลี่ยงการใช้คำถามปลายปิด
  • ควรใช้ภาษากายและใช้การสาธิตช่วย
  • ใช้ตัวหนังสือขนาดใหญ่ และรูปภาพในการช่วยสื่อสาร
  • ควรพูดกับผู้สูงอายุทีละคน ไม่ควรพูพร้อมกันหลายๆคนเพราะอาจทำให้ผู้สูงอายุสับสนได้

สรุป

 ปัญหาด้านการได้ยินในผู้สูงอายุเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากการเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการชราภาพและจากภายนอก ซึ่งจะส่งผลต่อการสื่อสารและการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้นการค้นหาสาเหตุและแก้ไข แนะนำผู้ดูแลผู้สูงอายุให้ทราบถึงการประเมินปัญหาด้านการได้ยินในผู้สูงอายุเบื้องต้น รวมทั้งแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ช่วยฟังที่ถูกต้อง เลือกวิธีสื่อสารที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ดีและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

แหล่งที่มาข้อมูลเรื่อง การพยาบาลผู้สูงอายุที่มีการได้ยินบกพร่อง

จากหนังสือการพยาบาลผู้สูงอายุโดย ผศ.ดร.ทศพร คำผลศิริ

อันดับแรก ต้องเข้าใจกันก่อนว่ารถเข็นที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่:

ประเภทแรก รถเข็น Wheel Chair แบบต้องใช้กำลังคนขับเคลื่อน ซึ่งก็สามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีก 2 ประเภท:

  1. Transport wheel chair– รถเข็น Wheel Chair ประเภทนี้จำเป็นต้องอาศัยคนช่วยเข็นเท่านั้น คนนั่งไม่สามารถเข็นเองได้ นิยมใช้งานกันในโรงพยาบาลเพื่อเคลื่อนย้ายคนไข้จากสถานที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง รถเข็นลักษณะนี้ จะมีล้อหลังขนาดเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ประมาณ 8-14นิ้ว ผู้นั่งจะไม่สามารถเอื้อมมือไปขยับล้อเพื่อเคลื่อนไหวรถเข็นด้วยตัวเองได้ ข้อดีคือน้ำหนักเบา ราคาค่อนข้างถูก
  2. Manually propelled wheel chair– รถเข็น Wheel Chair ประเภทนี้ผู้ใช้งานสามารถที่จะขยับรถเข็นเคลื่อนที่เองได้โดยจะต้องใช้แขนทั้งสองข้างในการช่วยหมุนล้อ ส่วนในกรณีที่ต้องการเบรก ผู้ใช้งานต้องใช้แขนทั้งสองข้างจับที่วงปั่นเพื่อช่วยในการชะลอผ่อนความเร็ว รถเข็นประเภทนี้ จะมีล้อหลังขนาดใหญ่ตั้งแต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-24นิ้ว (51-61 ซ.ม.) ข้อดีคือผู้ใช้งานสามารถบังคับควบคุมรถได้ด้วยตนเอง

ประเภทที่สอง รถเข็น Wheel Chair ที่ใช้พลังงานภายนอก หรือ นิยมเรียกกันว่า รถเข็นไฟฟ้า

คือรถเข็นที่ใช้ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ในการขับเคลื่อน โดยลักษณะภายนอกของรถเข็นและการใช้งานจะเหมือนกับแบบที่ใช้กำลังคนในการขับเคลื่อน แต่จะถูกติดตั้งเพิ่มเติมด้วยระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าทำให้ผู้ใช้งานสามารถบังคับทิศทางการเคลื่อนที่ไปในทางที่ต้องการได้ รถเข็นแบบนี้นิยมใช้กับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยหนักไม่สามารถควบคุมการทำงานภายในร่างกายได้ หรือพิการ เป็นอัมพาตจนร่างกายขยับไม่ได้

รถเข็นไฟฟ้าช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย ผู้สูงอายุได้เป็นอย่างมากโดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ไม่สามารถขยับเขยื้อนช่วงล่างของร่างกายได้เลย ผู้ใช้งานสามารถบังคับรถเพื่อหลบหลีกทาง หรือ เขยิบไปในจุดที่สะดวกได้ด้วยตนเองหรือในขณะที่คนเข็นรถไม่อยู่

ข้อแนะนำในการเลือกรถเข็นผู้ป่วย ผู้สูงอายุ:

  1. ควรเลือกแบบที่สามารถพับเก็บได้เพื่อความสะดวกในการพกพาไปในสถานที่ต่างๆ เพื่อความง่ายในการเคลื่อนย้าย
  2. รถเข็นควรมีเบรกและระบบล๊อคล้อเพื่อความปลอดภัย
  3. กรณีเป็นผู้ป่วยหนักจำเป็นต้องใช้รถเข็นในระยะเวลานาน ควรเลือกซื้อแบบที่ทนทาน มีน้ำหนักเบา สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวก หากต้องเดินทางเป็นประจำควรซื้อแบบที่ทำด้วยอลูมิเนียม
  4. รถเข็นที่ดีต้องมีความเหมาะสมกับผู้ใช้งาน ต้องไม่เทอะทะ ความลึกของเบาะนั่งต้องพอดีกับร่างกาย เมื่อนั่งแล้ว สะโพกและข้อเข่าควรงอทำมุมฉาก ควรมีช่องว่างระหว่างขอบที่นั่งกับข้อพับเข่าของผู้ป่วยเล็กน้อย หากที่นั่งลึกเกินไปอาจเกิดการเสียดสีเป็นแผลที่ใต้เข่าหรือผู้ป่วยอาจเลื่อนไหลตัวไปด้านหน้าจนอาจตกจากรถเข็นได้
  5. ต้องมีความปลอดภัยกับผู้ใช้งาน โดยควรคำนึงถึงความสูงของพนักพิงว่าต้องพอดี หากผู้ป่วยมีอาการที่ทรงตัวไม่ดี ควรใช้พนักพิงที่พอเหมาะพอดีกับตัว หากผู้ใช้งานทรงตัวดี ต้องการความคล่องตัวในการเข็นรถด้วยตนเองให้เลือกใช้พนักพิงแบบต่ำ
  6. ที่วางเท้าต้องพอเหมาะในขณะที่ผู้สูงอายุนั่ง ข้อเข่าและข้อเท้าควรงอตั้งฉากกัน ไม่ควรงอหรือเหยียดจนเกินไป หรือหากที่วางเท้าสูงเกินไปอาจส่งผลให้เกิดแรงกดไปที่ก้นมากจนอาจเกิดอันตราย เมื่อใช้ไปนานเข้าอาจทำให้ปวดหลังหรือเกิดแผลกดทับที่ก้นขึ้นมาได้

เครดิตข้อมูลจาก site :       

Phartrillion: https://phartrillion.com/how-to-choose-wheelchair/

ราคาเครื่องมือแพทย์.com:  https://bit.ly/38GGrWs