ผู้สูงอายุจะมีสมรรถภาพเสื่อมถอยลงอย่างช้าๆ โดยมีปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งความเจ็บป่วยหรือความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่มากขึ้น ส่งผลให้ความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองลดลงนำมาสู่การพึ่งพาคนอื่นมากขึ้น การฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุมีความจำเป็นเพื่อชะลอความเสื่อมถอยของความสามารถ รักษาความสามารถที่ยังเหลืออยู่และฟื้นฟูส่วนที่สูญเสียไปจากการไม่ได้ใช้งานเพื่อให้ผู้สูงอายุกลับมาดำเนินชีวิตได้ด้วยตนเองและพึ่งพิงบุคคลอื่นให้น้อยลง
ภาพโดย ErikaWittlieb จาก Pixabay
สารบัญเนื้อหา
1. เป้าหมายของการฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ
credit pics by Pixabay – www.pixabay.com
เป้าหมายที่สำคัญในการฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุก็เพื่อคงไว้ซึ่งการเคลื่อนไหวร่างกาย และความสามารถ ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุสร้างความสมดุลโดยการออกกำลังกายและสร้างโปรแกรมที่มีกิจกรรมทางโภชนาการที่ดี รวมทั้งในด้านอารมณ์และสังคมและดูแลผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่ดี
ดังนั้น ยิ่งให้ผู้สูงอายุปฏิบัติกิจกรรมมากเท่าไร่ก็ยิ่งทำให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจกรรมได้ด้วยตนเองมากขึ้นเท่านั้น อาทิเช่น การออกกำลังกายจะช่วยให้สมรรถภาพหัวใจดีขึ้น ความเร็วในการเดินก็จะมากขึ้นเช่นเดียวกับความเร็วในการตอบสนองของร่างกายก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตามอาการปวดเป็นสาเหตุสำคัญที่ขัดขวางการฟื้นฟูสภาพ อาการปวดที่เกิดจากการอักเสบเช่นในผู้สูงอายุที่ปัญหาข้อเสื่อมจะมีการอักเสบของเยื่อหุ้มข้อโดยเฉพาะข้อเข่าจะทำให้กล้ามเนื้อน่องไม่สามารถหดรัดตัวได้เนื่องจากเมื่อมีการเคลื่อนไหวจะมีอาการปวด
ดังนั้นการฟื้นฟูสภาพควรเริ่มต้นด้วยการลดอาการอักเสบโดยการใช้ยาหรือใช้ความเย็น ผู้สูงอายุยังควรต้องมีการเคลื่อนไหวข้อแต่ต้องมีการปกป้องข้อที่ถูกวิธีด้วยการทำกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด และการสนับสนุนด้านสังคมและจิตใจ
ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายผู้สูงอายุคือ การฟื้นฟูความสามารถทั้งทางร่างกาย สังคม และจิตใจ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความสามารถช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ มีความเป็นตัวของตัวเอง และกลับไปใช้ชีวิตในสังคมสิ่งแวดล้อมที่เคยอยู่ก่อนการเจ็บป่วย
2. วิธีการฟื้นฟูสภาพในผู้สูงอายุ
credit pics by Pixabay – www.pixabay.com
การฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุประกอบด้วย 2 วิธีหลักได้แก่ การออกกำลังกายเพื่อการรักษา และ การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ รวมถึงการให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัว
3. การออกกำลังกายเพื่อการรักษา
เนื่องจากผู้สูงอายุพบปัญหากล้ามเนื้อลีบเล็กลง จึงอาจรบกวนการทำกิจวัตรประจำวัน การออกกำลังการเพื่อการรักษาจึงมีบทบาทเพื่อป้องกันการลีบ และเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยการออกกำลังกายแบ่งย่อยออกเป็น 4 ประเภทได้แก่:
3.1 การออกกำลังเพื่อคงพิสัยข้อ มีประโยชน์เพื่อช่วยป้องกันข้อยึดติด แต่หากข้อติดแล้ว การบริหารแบบเหยียดกล้ามเนื้อจะช่วยเพิ่มพิสัยข้อได้ ข้อควรระวังในผู้ป่วยสูงอายุ การบริหารเหยียดกล้ามเนื้อของข้อต่ออาจทำให้เกิดรอยเขียวช้ำที่ผิวหนังได้ง่าย เนื่องจากผู้สูงอายุมีไขมันใต้ผิวหนังน้อย นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักเนื่องจากโรคกระดูกพรุน จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและอาศัยทักษะของผู้ทำพอสมควร
ภาพโดย 박유정 Alex 郑谦 park จาก Pixabay
3.2 การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ: หลักการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อคือ ให้ร่างกายออกแรงกระทำต่อแรงต้านที่เพิ่มขึ้น เช่นการใช้ตุ้มน้ำหนักหรือ Dumbbell หรือใช้ยางที่มีความยืดหยุ่น ข้อควรระวังในผู้ป่วยสูงอายุคือ ผู้ที่เป็นความดันเลือดสูง เพราะการออกกำลังกายโดยการเกร็งกล้ามเนื้อของมือและแขนจะทำให้ความดันเลือดเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้การเพิ่มแรงต้านให้กล้ามเนื้อที่มากเกินไปอาจเกิดการอักเสบของข้อได้
3.3 การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความคงทนของระบบหัวใจและหลอดเลือด การออกกำลังกายแบบนี้จะทำให้การทำงานของหัวใจดีขึ้นและทำให้กล้ามเนื้อที่ออกกำลังแข็งแรงและมีความทนทานมากขึ้น ทั้งยังมีการสร้างมวลกระดูกที่มากขึ้น การออกกำลังกายต้องมีองค์ประกอบทั้งความถี่ ความแรงและระยะเวลา คือความแรงของการออกกำลังกายประเมินได้จากการเต้นของชีพจรที่ควรเร็วกว่าปรกติ
ความถี่ของการออกกำลังกายอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 20-30 นาที หรือแบ่งเป็น 2 รอบๆละ 10-15 นาที เริ่มจากน้อยๆแล้วค่อยๆเพิ่มปริมานขึ้นอย่างช้าๆ ข้อควรระวังสำหรับผู้ป่วยสูงอายุคือผู้ที่โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคความดันเลือดสูงขั้นรุนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทดสอบสมรรถภาพการทำงานของหัวใจก่อนออกกำลังกายจริง การออกกำลังกายแบบแอโรบิคในผู้สูงอายุควรเริ่มแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วยการอบอุ่นกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายและมีระยะผ่อนคลายก่อนจะหยุดออกกำลังกาย
3.4 การออกกำลังกายเพื่อพัฒนาการประสานงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ การออกกำลังกายชนิดนี้มีประโยชน์ในกรณีการทำงานของสมองน้อย บกพร่อง ไม่สามารถควบคุมให้กล้ามเนื้อมัดต่างๆในร่างกายทำงานประสานกันได้
หลักการออกกำลังกายประเภทนี้ต้องการการวางแผนวิเคราะห์กิจกรรมต่างๆ โดยแบ่งเป็นกิจกรรมย่อยหลายๆกิจกรรมที่ไม่ซับซ้อนแล้วให้ผู้ป่วยฝึกแต่ละกิจกรรมย่อยนั้นซ้ำๆอย่างตั้งใจจนชำนาญ สุดท้ายจึงนำมารวมเป็นกิจกรรมหลัก ดังนั้นการฝึกเดินจึงแบ่งการฝึกเรื่องการกระดกข้อเท้าขึ้นลง ฝึกการงอและการเหยียดสะโพกในท่านอนหงาย ฝึกการเดินย่ำเท้าอยู่กับที่ ให้ฝึกแต่ละกิจกรรมย่อยจนคล่องแคล่วแล้วจึงนำมารวมกันโดยการฝึกเดินจริง
4. การใช้อุปกรณ์เครื่องช่วย
credit pics by freepik – www.freepik.com
อุปกรณ์เครื่องช่วย หมายรวมถึงอุปกรณ์เสริม อุปกรณ์เทียม รองเท้า อุปกรณ์ช่วยเดิน และ รถเข็นนั่ง (อ่านเพิ่มเติม รถเข็นนั่ง wheel chair มีกี่ประเภท อะไรบ้าง) อุปกรณ์เหล่านี้มีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถดำรงชีพได้ด้วยตัวเองอย่างเป็นอิสระ อุปกรณ์เครื่องช่วยสามารถขยายความได้ดังนี้:
อุปกรณ์เสริม: ตัวอย่างเช่น เฝือกอ่อนพยุงคอ สนับเข่า สนับเอว อุปกรณ์ดามขา เป็นต้น การใช้อุปกรณ์เสริมมีประโยชน์เพื่อช่วยลดอาการปวดและเสริมความมั่นคงของข้อ
อุปกรณ์เทียม: การใช้แขนเทียมหรือขาเทียมในกรณีที่ผู้ป่วยต้องสูญเสียแขนหรือขา
การปรับรองเท้า: รองเท้าสำหรับผู้สูงอายุควรมีขนาดพอเหมาะ ไม่มีการบีบรัดหรือเสียดสีขณะสวมใส่ ใช้วัสดุที่นุ่ม รูปแบบรองเท้าควรพิจารณาให้เหมาะสมกับโรคของผู้ป่วยด้วย ส่วนผู้สูงอายุทั่วไปแนะนำให้ใส่รองเท้าส้นเตี้ย (น้อยกว่า 2.5 ซ.ม.) มีตัวเสริมขอบบริเวณส้นเท้าที่แข็งแรง พื้นรองเท้าเป็นยางดีกว่าพื้นหนังเนื่องจากช่วยป้องกันการลื่นและมีน้ำหนักเบา หน้ารองเท้าควรกว้างพอที่จะวางนิ้วเท้าได้สบาย รองเท้าที่ดีมีส่วนช่วยให้การเดินมั่นคงและช่วยป้องกันการหกล้มได้
อุปกรณ์ช่วยเดิน: ไม้เท้าหรือคอกช่วยเดินช่วยเสริมความมั่นคงในการยืนและเดิน (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้าไม้เท้าผู้สูงอายุ) ป้องกันภาวะหกล้มและช่วยแบ่งเบาแรงกระทำต่อข้อ แม้ไม้เท้าจะสะดวกกว่าคอกเดินแต่เสริมความมั่นคงได้น้อยกว่าและลดแรงกระทำต่อข้อได้น้อยกว่าคอกเดิน
การเลือกใช้อุปกรณ์คอกเดินขึ้นอยู่กับปัญหาของผู้สูงอายุแต่ละราย โดยพิจารณาการทรงตัว กำลังกล้ามขา และแรงกระทำต่อข้อบริเวณกล้ามขาเป็นหลัก โดยทั่วไปมักเลือกคอกเดินสำหรับผู้สูงอายุมากกว่าไม้เท้า เนื่องจากควรเน้นความมั่นคงในการยืนและเดินมากกว่าเน้นความสะดวก โดยเฉพาะช่วงแรกของการฝึกยืนและเดิน
รถเข็นสำหรับคนพิการ (Wheel Chair): ผู้สูงอายุไม่สามารถยืนหรือเดินได้อย่างมั่นคงเนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อยึดติด โรคระบบหลอดเลือดที่ไม่สามารถใช้คอกเดินได้ อาจพิจารณาใช้รถเข็นนั่ง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับสินค้ารถเข็นนั่ง) สำหรับคนพิการในการเคลื่อนที่ บางรายอาจใช้เฉพาะการเดินทางไกลเพื่อเป็นการประหยัดพลังงานในการเดิน
รูปแบบรถเข็นนั่งสำหรับผู้สูงอายุต้องเลือกให้เหมาะสมกับความจำเป็นในแต่ละราย การมีที่รองเท้าแบบเหวี่ยงเท้าออกเพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้ายตัวเอง ปรับระดับความสูงของพนักพิงหลังให้สูงถึงระดับประคองศีรษะหรือมีพนักพิงที่ปรับเอนได้ในกรณีเสียการทรงตัว
อุปกรณ์เครื่องช่วยอื่นๆ: อุปกรณ์เครื่องช่วยบางอย่างช่วยเสริมให้ผู้สูงอายุสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้สะดวกขึ้น เช่น การใช้ไม้ด้ามยาวเพื่อหยิบจับสิ่งของ
5. การฟื้นฟูสภาพในผู้สูงอายุที่การทำหน้าที่ด้านร่างกายลดลง
credit pics by pressfoto – www.freepik.com
ผู้สูงอายุที่สูญเสียความสามารถในการทำหน้าที่ด้านร่างกายเป็นผลจากการเจ็บป่วยเฉียบพลัน การกำเริบของโรคเรื้องรังเช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และโรคหัวใจ ที่ทำให้ถูกจำกัดกิจกรรม ร่วมกับวิถีชีวิตแบบเคลื่อนไหวน้อย
การฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้สูงอายุที่มีการทำหน้าที่ด้านร่างกายลดลงประกอบด้วยการออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกายที่มีความหนักปานกลางคืออัตราการเต้นของหัวใจประมาณร้อยละ 40 ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุด ส่งผลดีต่อผู้สูงอายุ การออกกำลังกายแบบมีแรงต้านหรือออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
การฟื้นฟูสภาพของหัวใจส่งผลให้ร่างกายใช้ออกซิเจนได้ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น และความสามารถในการทำกิจกรรมมากขึ้น การฟื้นฟูสภาพปอดส่งผลให้การทำหน้าที่ด้านร่างกายดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น
6. การฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้สูงอายุที่สูญเสียความสามารถในการเดิน
credit pics by pressfoto – www.freepik.com
ซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านการทรงตัว มีอาการปวดจากข้อเสื่อม ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่า เหนื่อยง่ายหรือกลัวการหกล้ม ทำให้ผู้สูงอายไม่กล้าทำกิจกรรมโดยเฉพาะการเดินซึ่งจะส่งผลกระทบให้เกิดภาวะแทรกซ้อนจากการเคลื่อนไหวลดลง ดังนั้นการฟื้นฟูสภาพเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนมีดังนี้:
6.1 การจัดท่าให้เหมาะสม โดยมีที่ดันปลายเท้าไม่ให้ปลายเท้าตก ไม่ควรใช้หมอนรองใต้เข่าเพราะจะทำให้ข้อเข่าและข้อสะโพกติดงอได้ ท่าตะแคงให้นอนกอดหมอนข้าง เข่าและสะโพกวางบนหมอนข้าง และพลิกตัวบ่อยๆ เพื่อป้องกันแผลกดทับ
6.2 ขยับข้อบ่อยๆเพื่อป้องกันข้อติด โดยขยับข้อให้เต็มพิสัยและขยับทุกทิศทางเท่าที่ทำได้ รอบละ 3-5 ครั้ง อย่างน้อยวันละ 1-2 รอบ
6.3 การบริหารกล้ามเนื้อโดยการเกร็งกล้ามเนื้อมัดสำคัญ เช่น กล้ามเนื้อน่องและต้นขา โดยการเกร็งเหยียดเข่าพร้อมกระดกข้อเท้าขึ้นบนเตียง รวมถึงการขมิบก้นนับ 1-10 แล้วคลาย ทำซ้ำ 10-20 ครั้ง วันละ 2-3 รอบ หรือให้ยกก้นลอยพ้นจากพื้นเท่าที่ทำได้
6.4 กระดกข้อเท้าขึ้นลงบ่อยๆ เพื่อป้องกันลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ
6.5 จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งเป็นระยะ เพื่อป้องกันความดันเลือดต่ำจากการเปลี่ยนท่า
6.6 ฝึกการบริหารการหายใจและการไอที่ถูกต้อง เพื่อขับเสมหะ โดยการสูดลมหายใจเข้าเต็มให้ลึกมากที่สุด เก็บลมหายใจและไอออกเป็นชุดๆอย่างต่อเนื่อง ไอให้แรงในช่วงสุดท้ายของการไอ
ภายหลังถ้าผู้สูงอายุทำได้ดีขึ้นให้เพิ่มระดับการฟื้นฟูสภาพโดยการฝึกการยืนและการเดินดังนี้:
- บริหารเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความคงทนของกล้ามเนื้อ เช่นเหยียดกล้ามเนื้อขาเพื่อยืดสปริง และเพิ่มความตึงของสปริงโดยให้มีแรงฝืดมากขึ้นเท่าที่จะทำได้
- ฝึกการทรงตัวนั่งและการทรงตัวเดิน ทั้งแบบ Static และ Dynamic
- ฝึกการเคลื่อนย้ายตนเองระหว่างเตียงและรถเข็น หรือรถเข็นและโถส้วม โดยนักกิจกรรมบำบัดหรือนักกายภาพบำบัด
- ฝึกการเดินให้มั่นคงโดยการใช้อุปกรณ์ช่วยเดินหรืออุปกรณ์เสริมเช่น คอกช่วยเดิน ไม้เท้า
- ฝึกกำลังกล้ามเนื้อมือและแขนโดยการใช้กิจกรรมบำบัด เพื่อเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อ กำลังกล้ามเนื้อ และความทนทานของกล้ามเนื้อแขนเพื่อเตรียมความพร้อมในการทำกิจกรรมประจำวัน
สรุป การฟื้นฟูสมรรถภาพในผู้สูงอายุมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้สูงอายุคงสมรรถภาพร่างกายและดำเนินชีวิตด้วยตนเองได้มากที่สุด อันจะนำมาสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูลเรื่อง การฟื้นฟูสภาพผู้สูงอายุ: การพยาบาลผู้สูงอายุโดย ผศ.ดร.ศิริรัตน์ ปานอุทัย