สถานการณ์ Covid-19 ณ.ตอนนี้ มีแนวโน้มที่จะกลับมาระบาดในประเทศไทยอีกครั้ง เราต้องดูแลตัวเองให้ดี โดยหลักการง่ายๆ 3 ข้อที่เราทำกันมาโดยตลอดคือ ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และเว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ๆมีคนแออัด หรือ ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงการเดินทางในช่วงเวลานี้
ที่สำคัญเราต้องคอยดูแลคนที่เรารักโดยเฉพาะพ่อ แม่ หรือผู้สูงอายุภายในบ้านเพราะกลุ่มคนเหล่านี้มีความอ่อนไหวต่อโรค Covid-19 อย่างมาก สามารถที่จะติดเชื้อได้ง่ายกว่าคนธรรมดาทั่วไป ฉะนั้นในบทความนี้เราขอนำคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพผู้สูงอายุมาอธิบายแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุในช่วง Covid-19
Photo created by pikisuperstar – www.freepik.com
ยาวไปเลือกอ่าน
โดยปรกติผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสภาพร่างกายและจิตใจสูง ด้วยความชราภาพ สุขภาพก็อาจจะอ่อนแอลง มีความอ่อนไหวของจิตใจต่อสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพบ้างไม่มากก็น้อย ยิ่งโดยเฉพาะช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงการแพร่กระจาย Covid-19 อาจจะต้องการการดูแลจากลูกหลานมากขึ้นเป็นพิเศษ
อาการที่ควรระวังสำหรับผู้สูงอายุในช่วง Covid-19
อาการที่ควรต้องระวังของคนทั่วไปอาจแตกต่างจากผู้สูงอายุ ปรกติในช่วงการแพร่กระจายของ Covid-19 คนธรรมดาทั่วไปอาจมีอาการมีไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจเร็ว การหอบ ลิ้นและจมูกไม่สามารถสัมผัสถึงรสและกลิ่นได้ แต่ในผู้สูงอายุด้วยความทีมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านกายภาพ ร่างกาย จึงต้องควรระวังในเรื่อง การเบื่ออาหาร กินได้น้อย ซึมเศร้าหรือสับสนมากขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง
Photo created by freepik – www.freepik.com
การดูแลและป้องกันผู้สูงอายุในช่วง Covid-19
มีหลักสำคัญในการป้องกันผู้สูงอายุให้ห่างไกลจากโรค Covid-19 เบื้องต้นตามหลัก 5 อ. ได้แก่:
1). อาหาร ให้ครบ 5 หมู่ เน้นทั้งคุณภาพ ในปริมาณที่เหมาะสมพอเพียง
2). ออกกำลังกาย ถ้าไม่สามารถออกำลังกายนอกบ้านในช่วงนี้ได้เพราะปัญหาด้าน Covod-19 และฝุ่น PM-2.5 ผู้สูงอายุก็สามารถใช้การออกกำลังกายภายในบ้านได้แทน เช่นการเดินภายในบ้าน การแกว่งแขน-ขา ที่ถูกวิธี การเล่นโยคะ
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การที่เราทำกิจกรรมต่างๆ ภายในบ้าน อาจต้องระวังในเรื่องของการลื่น หกล้ม อาจเกิดอาการบาดเจ็บ หรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ)
3). อารมณ์ ลูก-หลานต้องคอยหมั่นสังเกต อารมณ์ของผู้สูงอายุ เพราะปัจจุบันโลกของ Internet และSocial media สามารถเข้าถึงข่าวสารต่างๆ มากมายได้ง่าย โดยในบางครั้งก็มีทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม ถ้าไม่ได้พิจารณาอย่างดีอาจมีผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้สูงอายุได้ อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า หรือเครียดสะสม อาการวิตกกังวล ซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพร่างกายและจิตใจไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
4). เอนกายพักผ่อน ผู้สูงอายุควรพักผ่อนให้เพียงพอ ให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-9 ชั่วโมงต่อวัน เรื่องคุณภาพในการนอนก็เป็นเรื่องสำคัญ ควรจัดสถานที่ สภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพักผ่อน อุณหภูมิที่เหมาะสม ไม่มีเสียงรบกวน ความสะอาดเรียบร้อย ลดความวิตกกังวล ช่วยให้การพักผ่อนมีคุณภาพมากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมเรื่องการพักผ่อนในผู้สูงอายุ)
5). ออกห่างสังคมภายนอก ถ้าจำเป็นต้องออกไปสู่สังคมจริงๆ ก็ควรต้องระมัดระวังในเรื่องของระยะห่าง อย่าอยู่ใกล้ชิด เว้นระยะห่างออกจากตัว 1-2 เมตร ต้องคอยใส่หน้ากากอนามัย ล้างและทำความสะอาดมือด้วยเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ
แนวทางเพิ่มเติมในการดูแลผู้สูงอายุในช่วง Covid-19
Photo created by prostooleh – www.freepik.com
การดูแลผู้สูงอายุในช่วง Covid-19 ในความเป็นจริงอาจต้องแบ่งออกเป็นหลายด้าน ด้านที่สำคัญได้แก่ผู้สูงอายุที่มีภาวะทุพลภาพ ผู้สูงอายุที่มีการนอนติดเตียง ผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานดูแล (Nursing Home)
ในส่วนของการดูแลผู้สูงอายุในศูนย์/สถานดูแล (Nursing Home) ควรแบ่งออกเป็น 2 ส่วนได้แก่ การดูแลผู้สูงอายุภายในศูนย์ และ ในส่วนของของลูก-หลาน หรือ ญาติ
ในส่วนของศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ต้องมีมาตรการในการรองรับป้องกันการติดเชื้อ Covid-19 ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณะสุข อาทิเช่น ต้องมีการคัดกรองผู้เข้าเยี่ยม หรือ ผู้ดูแล ถ้ามีการกลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ควรมีการกักตัว และที่สำคัญคือทางศูนย์ดูแลจำเป็นต้องมีการลดกิจกรรมที่จะมีการรวมกลุ่มกัน หรือลดกิจกรรมที่มีการสัมผัสกันของผู้สูงอายุ
ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุต้องคอยหมั่นตรวจเช็คสุขภาพ สังเกตอาการของผู้สูงอายุภายในศูนย์ว่ามีอาการผิดปรกติ ไม่สบายบ้างหรือไม่ ถ้ามีควรแยก หรือกักตัวให้ออกห่างจากผู้สูงอายุที่อยู่ในศูนย์คนอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ Covid-19
Picture created by Harryarts – www.freepik.com
นอกจากนี้ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุจำเป็นต้องทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ บ่อยครั้ง สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกัน ที่เป็นส่วนกลางภายในศูนย์ อาทิ ลูกบิดประตู ด้ามจับบนเตียง หรือในห้องน้ำต่างๆ และควรจัดหาอุปกรณ์เครื่องใช้ส่วนตัวสำหรับผู้สูงอายุในแต่ละรายอย่างเหมาะสม ไม่ควรสลับปรับเปลี่ยนผู้ดูแลผู้สูงอายุไปเรื่อยๆ ในทุกห้อง ควรจำกัดให้อยู่ในห้องใดห้องหนึ่ง เพื่อลดการสัมผัสและความเสี่ยงในการกระจายตัวของเชื้อ
ในส่วนของญาติ ช่วงนี้ควรงดการเข้าเยี่ยม หรือ ในบางศูนย์อาจไม่อนุญาตให้เข้าเยี่ยม แต่สิ่งสำคัญที่ญาติต้องคำนึงถึงคืออาจทำให้ผู้สูงอายุอาจรู้สึกโดดเดียว ซึมเศร้า ได้ ฉะนั้นลูก-หลานและญาติควรคุยกับทางศูนย์ให้อนุญาตให้ใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสาร อาทิ การ VDO Call หรือ โทรศัพท์พูดคุย เพื่อลดภาวะ โดดเดี่ยว เพิ่มความอบอุ่นระหว่าญาติและผู้สูงอายุ
Photo created by pikisuperstar – www.freepik.com
สำหรับผู้ป่วยที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ได้แก่กลุ่ม ทุพลภาพ นอนติดเตียง หรือผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อม ควรต้องดูแลดังนี้:
ผู้ป่วยทุพลภาพ นอนติดเตียง สิ่งสำคัญคือผู้ดูแล ไม่ควรเปลี่ยนผู้ดูแลบ่อยเพื่อลดการสัมผัสระหว่างกัน ควรเป็นผู้ดูแลท่านเดียวเฉพาะไปเลยสำหรับช่วง Covid-19
ผู้ป่วยสมองเสื่อม จะมีอาการหลงลืม จำไม่ได้ อาจเป็นสาเหตุของการลืมใส่หน้ากาก ลืมล้างทำความสะอาดมือ ฉะนั้น ผู้ดูแล หรือ ลูกหลาน ต้องคอยหมั่นเตือนอย่างสม่ำเสมอ แนะนำการล้างมืออย่างถูกวิธี การใส่หน้ากากอย่างถูกวิธี หรืออีกวิธีหนึ่งเพื่อคอยเตือนผู้สูงอายุคือการทำป้ายภาพเตือนและแนะนำเทคนิคต่างๆในการดูแลตัวเองช่วง Covid-19 ติดไว้ตามผนัง หรือจุดสำคัญที่สามารถเห็นได้ง่ายและเด่นชัด (อ่านเพิ่มเติม เรื่องภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ)
สรุป
ความสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุช่วง Covid-19 คือ ต้องคอยมอบความอบอุ่น หมั่นคอยดูแล และเอาใจใส่ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสุขภาพ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีความอุ่นใจ ทั้งหมดนี้จะช่วยให้เราและ ผู้สูงอายุสามารถผ่านช่วงเวลาของ Covid-19 ไปได้อย่างปลอดภัยร่วมกัน
เรียบเรียงข้อมูลโดย: ทีมงาน Zee Doctor
ขอบคุณข้อมูลที่มีประโยชน์จาก: อ.นพ. หฤษฎ์ ปัณณะรัส
สาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เผยแพร่ผ่าน: Siriraj Channel You Tube: https://www.youtube.com/watch?v=1poRCfIMIDs&fbclid=IwAR01ippmoBrfB3uisC_ZjFlRU16TztADVLL1vgOH7rTAaGEiLaeopg4BekQ